โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 277 ทวิ, 279, 280, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ท. ผู้เสียหายที่ 1 และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 โดยนางสาว ท. ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่เสรีภาพ 100,000 บาท และค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 100,000 บาท รวม 200,000 บาท แก่โจทก์ร่วม และชำระค่ารักษาพยาบาล 80,000 บาท ค่าพาหนะเดินทางไปรักษาพยาบาล 20,000 บาท และค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 300,000 บาท รวม 400,000 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 280 (1) (ที่แก้ไขใหม่), 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 18 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 10 ปี รวมเป็นจำคุก 28 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 50,000 บาท และแก่ผู้ร้อง 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 15 ปี ให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วม ผู้ร้อง และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นมารดาของผู้ร้อง ผู้ร้องเกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 โดยในช่วงระหว่างวันเกิดเหตุ ผู้ร้องพักอาศัยอยู่ในความปกครองดูแลของนาง บ. ผู้เป็นย่า วันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ผู้ร้องเข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบล ก. และใช้บริการรถตู้รับส่งนักเรียนของศูนย์ในการเดินทางไปกลับ โดยมีจำเลยซึ่งเป็นพนักงานขับรถขององค์การบริหารส่วนตำบล ก. ทำหน้าที่ขับรถตู้ ต่อมาผู้ร้องมีอาการเจ็บบริเวณอวัยวะเพศและอวัยวะเพศมีอาการบวมแดง นาง บ. พาผู้ร้องไปรักษาหลายครั้ง แต่อาการเป็น ๆ หาย ๆ ครั้งสุดท้ายผู้ร้องมีไข้และอาเจียนนาง บ. พาผู้ร้องไปรักษาที่โรงพยาบาล ช. แพทย์แจ้งว่าอวัยวะเพศของผู้ร้องอักเสบเนื่องจากติดเชื้อและจัดให้ผู้ร้องคุยกับนักจิตวิทยาของโรงพยาบาล วันที่ 27 มิถุนายน 2562 นาง บ. ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหากระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเพื่อการอนาจาร คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุก 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นมารดาและนาง บ. เป็นผู้ปกครองดูแลมีความใกล้ชิดกับผู้ร้องและพบเห็นอาการผิดปกติของอวัยวะเพศของผู้ร้อง ทั้งได้สอบถามสาเหตุของอาการเจ็บบวมที่อวัยวะเพศของผู้ร้องมาตลอด จนกระทั่งทราบเรื่องที่ผู้ร้องถูกจำเลยกระทำอนาจารจากผู้ร้องโดยตรง ซึ่งเรื่องราวที่พยานทั้งสองปากเบิกความดังกล่าวมีความสอดคล้องเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน โจทก์ร่วมและนาง บ. ต่างรู้จักกับจำเลย และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลย น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมและนาง บ. เบิกความไปตามที่พบเห็นและทราบมาจากผู้ร้อง ทั้งโจทก์ร่วมและนาง บ. ให้การในเรื่องเช่นเดียวกันนี้ต่อพนักงานสอบสวน โดยร้อยตำรวจเอก ส. พนักงานสอบสวน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมาเบิกความยืนยัน คำเบิกความของโจทก์ร่วมและนาง บ. จึงมีน้ำหนักให้รับฟังและถือเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่สนับสนุนคำเบิกความของผู้ร้องให้มีน้ำหนักรับฟังได้มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้ความจากนางสาว ว. น้องสาวของนาง บ. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมอีกว่า ช่วงสงกรานต์ปี 2562 นางสาว ว. เดินทางกลับไปที่บ้าน พบว่าอวัยวะเพศของผู้ร้องมีลักษณะบวมแดง ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2562 นางสาว ว. กลับไปที่บ้านเพื่อร่วมงานบวชที่วัดท่ากรวด พบจำเลยกับภริยาจึงทักทายกัน จำเลยเห็นผู้ร้องจึงเดินเข้าไปหา แต่ผู้ร้องมีอาการหวาดกลัวและใช้มือทุบที่บริเวณเป้ากางเกงจำเลยหลายครั้ง นางสาว ว. สงสัยในปฏิกิริยาของผู้ร้อง จึงชวนผู้ร้องไปนอนที่บ้านและสอบถาม ผู้ร้องเล่าให้ฟังว่า จำเลยบีบคอผู้ร้อง ถอดกางเกง และจับขาของผู้ร้องถ่างออกแล้วใช้อวัยวะเพศทิ่มบริเวณอวัยวะเพศของผู้ร้อง และข่มขู่ไม่ให้ผู้ร้องบอกผู้อื่น แม้คำเบิกความของนางสาว ว. จะเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ได้รับฟังมาจากผู้ร้องโดยตรง อันสืบเนื่องมาจากนางสาว ว. สงสัยในปฏิกิริยาของผู้ร้องต่อจำเลย ถือได้ว่าตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมรับฟังประกอบการพิจารณาได้ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่า การที่ผู้ร้องมีอาการเจ็บที่อวัยวะเพศต่อเนื่องตลอดมาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากผู้ร้องถูกจำเลยกระทำอนาจารในรถยนต์ของจำเลยหลายครั้ง หาใช่ผู้ร้องมีอาการเจ็บอวัยวะเพศเพราะเม็ดทรายและมีอาการเจ็บก่อนมาสนิทสนมกับจำเลยตามที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า จำเลยกระทำต่อผู้ร้องทุกครั้งที่มาส่งผู้ร้องด้วยรถยนต์ส่วนตัว และเบิกความตอบศาลถามว่า เวลาจำเลยกระทำต่ออวัยวะเพศของผู้ร้อง จำเลยจะลงจากรถด้านคนขับมาด้านหลังที่ผู้ร้องนั่งอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยลงมือกระทำอนาจารผู้ร้องด้านหลังรถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นสถานที่ปกปิดมิดชิด ย่อมไม่เป็นที่สังเกตสงสัยของบุคคลที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้น การที่ผู้ร้องเบิกความตอบศาลว่า จำเลยแวะจอดรถและกระทำอนาจารที่ด้านหลังรถยนต์ของจำเลยจึงเชื่อว่ามีมูลความจริง แม้จำเลยจะฎีกาอ้างว่า ผู้ร้องเบิกความว่า เวลาเด็กหญิง ฟ. นั่งไปด้วย จำเลยก็กระทำต่ออวัยวะเพศของผู้ร้องให้เด็กหญิง ฟ. เห็น แต่พนักงานสอบสวนไม่นำเด็กหญิง ฟ. มาเป็นพยาน ถือเป็นข้อพิรุธนั้น เชื่อว่าเพราะเด็กหญิง ฟ. เป็นเด็กเช่นเดียวกันกับผู้ร้อง ย่อมไม่เข้าใจในสิ่งที่จำเลยกำลังกระทำและอาจไม่ได้จดจำเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นได้ กรณีดังกล่าวจึงหาเป็นข้อพิรุธตามที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าผลการตรวจเยื่อพรหมจารีอวัยวะเพศของผู้ร้องตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ และรายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดี มีความแตกต่างกัน ไม่อาจรับฟังเพื่อเอาผิดจำเลยได้นั้น ก็ได้ความว่าแพทย์ผู้ตรวจที่โรงพยาบาล ช. ให้ความเห็นว่า การที่อวัยวะเพศของผู้ร้องอักเสบเนื่องจากติดเชื้อ และให้นาง บ. พาผู้ร้องไปพบนักจิตวิทยาของโรงพยาบาล จากนั้นแนะนำให้นาง บ. พาผู้ร้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าแพทย์ผู้ตรวจเห็นแล้วว่าผู้ร้องถูกล่วงละเมิดทางเพศที่บริเวณอวัยวะเพศแล้วจึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พยานหลักฐานที่ผู้ร้องถูกล่วงละเมิดทางเพศจึงมีความสมบูรณ์อยู่แล้วในชั้นสอบสวน ส่วนที่รายงานการชันสูตรผู้ป่วยคดีของโรงพยาบาล ต. ระบุว่าเยื่อพรหมจารีของผู้ร้องพบร่องรอยฉีกขาดเก่า ตำแหน่ง 2 ถึง 4 นาฬิกา เป็นเพราะนาง บ. พาผู้ร้องไปร้องเรียนที่ศูนย์ของ นาง ป. และทางศูนย์แนะนำให้พาผู้ร้องไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล ต. โดยผลการตรวจชันสูตรทั้งสองครั้งไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่กลับเป็นการยืนยันผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ ด้วยว่าผู้ร้องถูกล่วงละเมิดทางเพศจริง พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีความชัดเจนพอเอาผิดกับจำเลย ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักให้รับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าวเพียงใด เห็นว่า จำเลยพรากผู้ร้องไปเสียจากโจทก์ร่วมเพื่อการอนาจารและกระทำอนาจารแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 3 ปีเศษ โดยลงมือกระทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ร้อง ต้องเข้ารับการรักษาร่างกายและสภาพจิตใจที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ร้องมีความสนิทสนมกับจำเลย และจำเลยเป็นที่ไว้วางใจของโจทก์ร่วมและนาง บ. ผู้ปกครองของผู้ร้อง แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสดังกล่าวลงมือกระทำความผิดต่อผู้ร้องหลายครั้งต่อเนื่องกันมา โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจที่จะเกิดแก่ผู้ร้องในอนาคต ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจและไม่มีความสำนึกรับผิดชอบ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายจิตใจของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดากับบรรดาญาติของผู้ร้อง ที่ต้องเลี้ยงดูผู้ร้องและเยียวยารักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ร้องให้กลับมาเป็นปกติ พฤติการณ์ถือเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีไม่มีเหตุอันควรปรานีลดโทษให้แก่จำเลยและสมควรลงโทษจำเลยในสถานหนัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโทษสำหรับการกระทำผิดของจำเลยมานั้น ยังไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งรูปคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมและผู้ร้องต่อไปว่า สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมและผู้ร้องเพียงใด โจทก์ร่วมและผู้ร้องฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าพาหนะเดินทาง 68,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่อง 100,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการนำผู้ร้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ปีละ 40,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี และค่าเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน 300,000 บาท นั้น เห็นว่า หากโจทก์ร่วมและผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมและผู้ร้องจะต้องคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ โจทก์ร่วมและผู้ร้องจะคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าสินไหมทดแทนโดยทำเป็นคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์โจทก์ร่วมและผู้ร้องไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้โดยเพียงแต่แก้อุทธรณ์ของจำเลยและขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้น ปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์ร่วมและผู้ร้องจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมและผู้ร้องไม่มีสิทธิหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาในศาลฎีกาได้อีก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่ผู้ร้องเพิ่มอีก 50,000 บาท จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 3 และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี และในกรณีหนี้เงิน ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 18 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 10 ปี รวมเป็นจำคุก 28 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 50,000 บาท และแก่ผู้ร้อง 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมและผู้ร้อง แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากมีพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1