โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นายน้อยสุวรรณเพชร พนักงานโจทก์ขับรถยนต์โดยสารประจำทาง ซึ่งโจทก์เช่ามาขณะแล่นไปถึงบริเวณหน้าโรงเรียนเสริมสวยทัศนียา นายน้อยได้ลดความเร็วของรถและให้สัญญาณไฟจอดรถเพื่อจะรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายจอดรถยนต์โดยสารประจำทาง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ตามหลังมาด้วยความเร็วสูงในระยะกระชั้นชิดด้วยความประมาท จึงเกิดอุบัติเหตุแล่นเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวเสียหาย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 155,678.28 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 144,817 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุไว้ จากจำเลยที่ 2 จริงแต่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณาปรากฏว่าจำเลยที่ 2ถึงแก่ความตายแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,442 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่26 มิถุนายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงว่ากรมธรรม์ประกันภัยค้ำจุนสำหรับการใช้รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-0834 ราชบุรี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัยมีผลบังคับให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่า นายประสิทธิ์ดาราพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ได้ประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-0834 ราชบุรี ไว้ต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2525มีกำหนด 1 ปี สิ้นสุดในวันที่ 13 กันยายน 2526 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2526ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ล.2 และคดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่26 มิถุนายน 2526 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-0834 ราชบุรีโดยประมาทอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2จะถึงแก่ความตายก่อนเกิดเหตุละเมิดคดีนี้ แต่รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวก็ยังอยู่ในอายุการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3 อีกทั้งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวก็ยังมีข้อกำหนดข้อ 1.13 เรื่องการโอนรถยนต์ว่า กรมธรรม์ประกันภัยนี้สิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่นเว้นแต่รถยนต์ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมหรือโดยบัญญัติกฎหมายข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเพราะเหตุผู้เอาประกันภัยถึงแก่กรรม นอกจากนั้นแล้วได้ความจากนายมานิจ ธนานุวงศ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอุบัติเหตุของโจทก์ที่ออกไปดูที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุว่า ได้พบจำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นลูกจ้างขับรถให้จำเลยที่ 2 และนายสุรเชษฐ์ ภูวจรูญกูรหัวหน้าตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3ว่า หลังวันเกิดเหตุ 1 วัน พยานได้รับแจ้งจากนางวิมล ดาราพาณิชย์ซึ่งอ้างว่าเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 ว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 2เอาประกันภัยไว้ถูกชนและแจ้งด้วยว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2526 จึงทำให้รับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้นางวิมลเป็นทายาทและรับมรดกสืบสิทธิจากจำเลยที่ 2 ผู้ตายในฐานะผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 จึงยังคงเป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันที่เอาประกันภัยไว้โดยนางวิมล ภรรยาของจำเลยที่ 2 ว่าจ้างต่อเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของนางวิมลนายจ้างนางวิมลจึงมีความผูกพันต้องรับผิดต่อโจทก์ดังนั้น จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกดังกล่าวย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย"
พิพากษายืน