โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 302,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 วรรคสอง ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการจากจำเลย โดยโจทก์ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ในการสมัคร ส่วนนายปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นสามีโจทก์ประกอบอาชีพทนายความใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์อีกบัญชีในการสมัคร จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นผู้ขายปลีกสินค้าบางรายการบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ www.xxx.co.th และแอปพลิเคชันของจำเลยทั้งเวอร์ชันไอโอเอสและแอนดรอยด์ ก่อนคดีนี้โจทก์และนายปรากฏการณ์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลชั้นต้นรวม 7 คดี คือ คดีหมายเลขแดงที่ ผบ.8199/2561 คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น คดีหมายเลขแดงที่ ผบ.8200/2561 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา สำหรับอีก 5 คดี โจทก์ นายปรากฏการณ์ จำเลยและผู้ขายสินค้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จำเลยเห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิในการใช้บริการซื้อสินค้าโดยไม่สุจริต ฟ้องร้องจำเลยและผู้ใช้บริการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลยต่อศาลเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบหลายครั้งอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการใช้บริการของจำเลย หากจำเลยปล่อยปละละเลยให้โจทก์ใช้บริการต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยและผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 จำเลยจึงยกเลิกการให้บริการเว็บไซต์ของจำเลยแก่โจทก์ โดยระงับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า "ตลาดแบบตรง" ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะใช้บังคับแก่ข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งการประกอบกิจการตลาดแบบตรงอยู่ในความควบคุมของ "นายทะเบียน" คือ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 29/2 และอยู่ในกำกับดูแล ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของ "คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง" ตามมาตรา 13 (3) โดยจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดในความเสียหายอันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายสินค้าและบริการหรือมีพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา 38/5 และมาตรา 41/5 ทั้งนี้ เนื่องจากการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ต่าง ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าย่อมไม่อาจเห็นและทดสอบสินค้าโดยประจักษ์ในขณะที่มีการตกลงซื้อขายสินค้า และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในวงกว้างเพราะสามารถเข้าถึงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองเข้ามาควบคุมและกำกับดูแล ในส่วนของศาลจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยความระมัดระวัง เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงกับผู้บริโภคตามสัดส่วนที่เหมาะสม อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของประชาชน สำหรับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นอันเป็นมูลข้อพิพาทที่จำเลยปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีของโจทก์มี 2 คดี คือ
1. คดีระหว่าง นางสุชาดา โจทก์ บริษัท ล. จำเลย โดยโจทก์สั่งซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ขายและชำระเงินค่าสินค้าแล้ว ภายหลังโจทก์คืนสินค้าให้แก่จำเลยภายในกำหนด 7 วัน ตามข้อตกลงของผู้ขายด้วยสาเหตุเปลี่ยนใจ จึงฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืนพร้อมค่าติดตามทวงถาม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คดีถึงที่สุดแล้ว
2. คดีระหว่างนางสุชาดา โจทก์ บริษัท ล. ที่ 1 บริษัท ฟ. ที่ 2 จำเลย โดยโจทก์สั่งซื้อหลอดไฟ 6 หลอด และมีของแถมเป็นโมชัน เซ็นเซอร์ (motion sensor) ราคา 1,290 บาท แต่ของแถมใช้การไม่ได้จึงส่งสินค้าทั้งหมดคืน แล้วฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืนพร้อมค่าติดตามทวงถาม คดีตกลงกันได้โดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระเงิน 13,259 บาท ให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว
ส่วนคดีอื่นนอกจากนั้น เป็นคดีที่นายปรากฏการณ์ฟ้องจำเลยกับผู้ขายสินค้ารายอื่นเป็นจำเลย โดยแยกวินิจฉัยเป็นคดีต่างหาก ซึ่งตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการซื้อสินค้าหรือบริการจากการขายตรงหรือจากการขายผ่านตลาดแบบตรงผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง..." เหตุผลของหลักการดังกล่าวเนื่องจากฝ่ายผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่อาจทดลองสินค้าอันเห็นได้ประจักษ์ก่อนว่าตรงตามสรรพคุณที่โฆษณาในเว็บไซต์ไว้หรือไม่ อันเป็นเรื่องปกติทางการค้าของการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง การใช้สิทธิของโจทก์ในการคืนสินค้าตามคดีในข้อ 1 และข้อ 2 ภายในกำหนดจึงเป็นไปโดยกฎหมายและข้อสัญญาโดยเฉพาะคดีในข้อ 2 ในที่สุดฝ่ายจำเลยตกลงชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม เห็นได้ชัดว่าการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองคดีเกิดขึ้นเนื่องจากมีการโต้แย้งสิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม ที่จำเลยกล่าวแก้มาในฎีกาทำนองว่า จำเลยมิได้ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า การที่จำเลยปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีของโจทก์ แต่โจทก์ก็ยังสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเสียงรายอื่นได้นั้น โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า โจทก์ยังมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ค้างอยู่ในบัญชีของโจทก์ จำเลยไม่ปฏิเสธความข้อนี้ การระงับการใช้บริการของจำเลยจึงกระทบต่อสิทธิของโจทก์โดยตรง และแม้เงื่อนไขในการใช้บริการของจำเลย กำหนดให้จำเลยมีดุลพินิจใช้สิทธิฝ่ายเดียวตามข้อ 2.4 (ข) ป้องกันหรือจำกัดการเข้าใช้ยังแพลตฟอร์มและหรือบริการของลูกค้า (จ) หยุดการใช้งาน ยกเลิก ลบ ห้าม ระงับและจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มและหรือบริการของและโดยบัญชีของจำเลยใด ๆ ลูกค้า และหรือบุคคลใด ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรโดยไม่ต้องให้เหตุผลหรือบอกกล่าวล่วงหน้า และการยกเลิกตามข้อ 9.1 กำหนดให้เป็นดุลพินิจแต่ฝ่ายเดียวของจำเลยและไม่ว่าจะบอกกล่าวไปยังผู้รับบริการหรือไม่ จำเลยอาจจะยกเลิกการใช้แพลตฟอร์มและหรือบริการของผู้รับบริการ และหรือระงับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการ จำเลยอาจจะยกเลิกการเข้าใช้แพลตฟอร์มและหรือบริการ (หรือส่วนหนึ่งส่วนใด) ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม รวมทั้งเนื่องจากการกระทำผิดเงื่อนไขใด ๆ ในการใช้บริการนี้ หรือเมื่อจำเลยเชื่อว่าผู้รับบริการได้ฝ่าฝืนหรือกระทำการที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขหรือข้อกำหนดใด ๆ ที่กำหนดไว้ หรือหากในความเห็นของจำเลยหรือความเห็นของหน่วยงานกำกับดูแลใด ๆ เป็นการไม่เหมาะสมที่จะยังคงปล่อยให้มีบริการเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม โดยให้การที่ระบุในข้อนี้มีผลในทันทีที่จำเลยได้ใช้ดุลพินิจดังกล่าว ข้อ 9.2 การยกเลิกโดยฝ่ายผู้รับบริการกำหนดให้ผู้รับบริการอาจจะยกเลิกเงื่อนไขในการใช้บริการนี้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น การนำหลัก "เสรีภาพในการทำสัญญา" มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม" การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3) เมื่อข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยสุจริต ไม่ปรากฏการกระทำประการอื่นใดนอกจากนี้ที่เป็นพฤติการณ์ร่วมมือกับสามีโจทก์ในการป่วนตลาด การที่จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นนี้มา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า แม้ประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว และเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง 300,000 บาท โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า หากจำเลยยินยอมเปิดการใช้บัญชีของโจทก์พร้อมคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิในการซื้อสินค้าและบริการให้แก่โจทก์ตามเดิม โจทก์ก็ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายแม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมาท้ายฟ้องก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้เพราะเป็นเรื่องที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบ และเพื่อให้การบังคับคดีประเภทหนี้กระทำการในคดีผู้บริโภคมีประสิทธิภาพ เห็นสมควรกำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท จนกว่าจำเลยจะดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 2,500 บาท นั้น เห็นว่า เป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ในคำพิพากษาได้อยู่แล้วตามตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 สำหรับข้อที่โจทก์ขอให้ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ นั้น เห็นว่า การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายให้แก่โจทก์ข้างต้นอย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยยกเลิกการปิดกั้นการเข้าถึงการให้บริการเว็บไซต์ www.xxx.co.th และแอปพลิเคชันของจำเลยแก่โจทก์ โดยให้โจทก์สามารถใช้บัญชีและรหัสผ่าน รวมทั้งคืนสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมของโจทก์กลับมาใช้ได้ตามปกติภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากพ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ดำเนินการ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท จนกว่าจำเลยจะดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามศาลรวม 2,500 บาท และค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 9,000 บาท คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก