โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2519 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 8,250 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514ข้อ 14, 15 ให้ลงโทษจำคุก 15 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 8,250 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องได้มีคนร้ายทำการชิงทรัพย์ของผู้เสียหายจริง มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ จำเลยมีและใช้อาวุธปืนในการกระทำผิดหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานปากเดียวมาเบิกความยืนยันว่า ก่อนจะเกิดเหตุมีชาย 2 คน นั่งรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าบ้านผู้เสียหายไปแล้วเลี้ยวกลับมาจอดเยื้องหน้าบ้านของผู้เสียหาย คนหนึ่งเป็นคนขับอีกคนหนึ่งนั่งซ้อนท้าย ครั้งแรกคนขับได้ลงจากรถมาซื้อน้ำอัดลมจากผู้เสียหายแล้วเดินไปคุยกับคนนั่งซ้อนท้ายที่รถ ต่อมาคนนั่งซ้อนท้ายได้เข้ามาซื้อน้ำอัดลมจากผู้เสียหายอีก ขณะที่ผู้เสียหายดึงลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินเพื่อหยิบเงินมาทอนให้ ชายคนนั้นก็เดินเข้าไปประชิดตัวด้านซ้ายผู้เสียหายใช้อาวุธปืนสั้นจี้บริเวณหน้าอกผู้เสียหายแล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมหวายเลี่ยมทองคำ 1 อันและล้วงเอาเงินจำนวน 1,000 บาท จากลิ้นชักโต๊ะไป ในวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 12 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้พาผู้เสียหายไปดูตัวจำเลยที่บ้านพักของจำเลย ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายชิงทรัพย์ผู้เสียหายตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธปืนสั้นชิงเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป เห็นว่าเหตุเกิดเวลากลางวันผู้เสียหายมีโอกาสเห็นหน้าจำเลยเป็นเวลานานวันนั้นจำเลยไม่ได้สวมหมวกหรือใส่แว่นตา ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยจึงเชื่อว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้จริง พยานจำเลยฟังหักล้างพยานโจทก์ไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยมีและใช้อาวุธปืนจริง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่าพวกของจำเลยที่ติดเครื่องรถจักรยานยนต์รออยู่ที่หน้าบ้านผู้เสียหายนั้นเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยหรือไม่เห็นว่า จากการกระทำของจำเลยกับพวกนั้นเป็นลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้นพวกของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยหาใช่เพียงผู้สนับสนุนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี โดยไม่ระบุมาตรา 83ไว้ ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยมิได้กระทำความผิดโดยลำพัง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83, 340 ตรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.