โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายณรงค์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืน ไม่อนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับอนามัยและจิตใจเป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 16 เดือน และให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 10 วัน เมื่อรวมโทษจำคุก 12 เดือน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 12 เดือน 10 วัน ให้ยกฟ้องจำเลยฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่น และยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยซึ่งเป็นรักษาการแทนไวยาวัจกรวัดหิรัญญาราม ให้คนงานไปทำงานบริเวณด้านหลังกุฏิอดีตเจ้าอาวาส ขณะนั้นโจทก์ร่วมกับพวกประมาณ 10 คน นั่งอยู่ใต้ถุนกุฏิพระดังกล่าว โจทก์ร่วมต่อว่าคนงานของจำเลยเรื่องถอนต้นมันเทศที่อดีตเจ้าอาวาสปลูกไว้ จึงเกิดการทะเลาะโต้เถียงและชกต่อยกับจำเลย หลังจากนั้น เวลาประมาณ 15 นาฬิกา โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างการชกต่อย จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ถูก แล้วนำพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุในเบื้องต้น รุ่งขึ้น จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่ให้การในรายละเอียด ในวันเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดพิจิตรไปตรวจที่เกิดเหตุ ไม่พบร่องรอยหรือวัตถุพยานใดในที่เกิดเหตุ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ร่วม นายสาธิตและนางมณีจะมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน แต่ไม่ปรากฏว่านางสาวประยงค์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยด้วย ทั้งหลังเกิดเหตุ โจทก์ร่วมยังเข้าร้องทุกข์และนำพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้นทันที ส่วนนายสาธิตและนางมณีก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนทันทีในวันเดียวกัน โจทก์ร่วม นายสาธิตและนางมณีย่อมไม่มีเวลาแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ได้รับโทษร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง ส่วนจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้ทราบจำเลยกลับให้การปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่ให้การในรายละเอียด ทั้ง ๆ ที่อ้างว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการทะเลาะโต้เถียงชกต่อยกัน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น จำเลยน่าจะให้การในรายละเอียดได้บ้าง แต่มิได้ให้การใด ๆ นอกจากนี้ในที่เกิดเหตุ ยังมีคนงานของจำเลยซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมและพยานของโจทก์กับโจทก์ร่วมเช่นกัน และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลใกล้ชิดกับจำเลย จำเลยน่าจะสามารถอ้างเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนและนำมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณาได้โดยไม่ยากนัก แต่ก็มิได้กระทำ คงอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว จึงมีน้ำหนักน้อย ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมและนายสาธิตพยายามหลีกเลี่ยงไม่เบิกความถึงลักษณะอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในวันเกิดเหตุเพื่อมิให้พบพิรุธข้อแตกต่างนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมและนายสาธิตเห็นอาวุธปืนในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงครู่เดียว ทั้งนางสาวประยงค์ซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดยังเบิกความยืนยันว่าได้ยินเสียงปืน การที่โจทก์ร่วมและนายสาธิตเบิกความลักษณะดังกล่าวยังไม่พอเป็นพิรุธให้สงสัย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพนักงานสอบสวนไม่สามารถติดตามหาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานได้ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนที่จำเลยมีและใช้เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานดังกล่าวมานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการต่อมาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากโจทก์ร่วมว่า ขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จำเลยอยู่ห่างจากโจทก์ร่วมประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะประชิด ชั้นสอบสวน โจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ขณะจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมนั้น จำเลยถืออาวุธปืนในลักษณะเอียง 45 องศา ทำให้วิถีกระสุนพุ่งตรงไปที่บริเวณเอว และเบิกความตอบคำถามค้านว่า หากจำเลยยกแขนยิงในลักษณะตั้งแขนตรง 90 องศา กระสุนปืนจะถูกบริเวณศีรษะโจทก์ร่วมเนื่องจากจำเลยสูงกว่าโจทก์ร่วม แสดงว่าจำเลยมีโอกาสเลือกยิงโจทก์ร่วมที่อวัยวะสำคัญของร่างกายได้ แต่จำเลยเลือกที่จะยิงเฉพาะช่วงล่างของร่างกายโจทก์ร่วมซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญและไม่สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งยังปรากฏต่อไปอีกว่า ขณะโจทก์ร่วมวิ่งหนี จำเลยวิ่งไล่ตามโจทก์ร่วมไปห่างเพียงประมาณ 3 เมตร ซึ่งยังคงเป็นระยะประชิด ทั้งโจทก์ร่วมยังหันหลังวิ่งหลบหนี ซึ่งเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถเลือกยิงอวัยวะสำคัญของร่างกายได้อีก แต่จำเลยก็มิได้ยิงโจทก์ร่วมซ้ำอีก แสดงว่า จำเลยมิได้เจตนาฆ่าโจทก์ร่วม ส่วนการยิงด้วยเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ตามภาพถ่ายประกอบคดี ซึ่งเป็นภาพจำลองเหตุการณ์ที่โจทก์ร่วมนำชี้ ปรากฏว่าจำเลยเล็งอาวุธปืนไปที่เอวของโจทก์ร่วมในลักษณะกดต่ำลง เมื่อคำนึงถึงระยะห่างที่จำเลยยืนอยู่ห่างจากโจทก์ร่วมประมาณ 1.5 เมตรประกอบแล้ว หากโจทก์ร่วมเอี้ยวตัวหลบได้ทันดังที่อ้าง กระสุนปืนน่าจะพุ่งลงกระทบพื้นดินบริเวณนั้นอานุภาพของกระสุนปืนน่าจะทำให้พื้นดินบริเวณนั้นมีร่องรอยที่พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดพิจิตรจะพบเห็นหรือตรวจสอบได้ แต่เจ้าพนักงานทั้งสองกลับไม่พบร่องรอยใด ๆ ข้อที่อาจมีผู้อื่นยักย้าย กลบเกลื่อนหรือปิดบังอำพรางร่องรอยหรือพยานหลักฐานใด ๆ นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า หลังเกิดเหตุ คนงานของจำเลยพาจำเลยออกจากที่เกิดเหตุไป ในบริเวณที่เกิดเหตุจึงมีแต่พยานของโจทก์และโจทก์ร่วมอยู่ ดังนั้น นับแต่เวลาเกิดเหตุจนกระทั่งโจทก์ร่วมพาพนักงานสอบสวนไปถึงที่เกิดเหตุ จึงไม่น่าจะมีผู้ใดสามารถยักย้าย กลบเกลื่อนหรือปิดบังอำพรางร่องรอยหรือพยานหลักฐานใด ๆ ได้ การที่พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดพิจิตรไม่พบร่องรอยหรือวัตถุพยานใดในที่เกิดเหตุ คำเบิกความและการนำชี้ของโจทก์ร่วมจึงมีเหตุให้สงสัยว่า จำเลยเล็งยิงไปที่เอวของโจทก์ร่วมหรือยิงไปยังทิศทางอื่น พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมในส่วนนี้ยังมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยมีความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 371 และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามโจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการต่อมาว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องของโจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมในระหว่างการชกต่อยนั้น เป็นกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเดิมระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยที่สมัครใจเข้าวิวาทชกต่อยกัน อันเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมและจำเลยต่างทำละเมิดต่อกันและกัน โจทก์ร่วมและจำเลยจึงจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กันและกัน มิใช่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ร่วมเพียงฝ่ายเดียว ส่วนที่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเพื่อพยายามฆ่าโจทก์ร่วมนั้น ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการทำละเมิด เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงในระหว่างทะเลาะวิวาทชกต่อยกับโจทก์ร่วมแล้ว การใช้อาวุธปืนยิงย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำละเมิดที่จำเลยกระทำต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งการกระทำนั้นเช่นนั้น ส่วนการกำหนดค่าสินไหมทดแทนระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ศาลย่อมวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของแต่ละฝ่ายประกอบกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงในการทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน จำเลยจึงเป็นฝ่ายกระทำผิดและละเมิดต่อกฎหมายร้ายแรงมากกว่าโจทก์ร่วม จึงเห็นสมควรให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน 10,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำขอของโจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยอายุ 60 ปีแล้ว การลงโทษจำคุกในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่น่าจะเป็นประโยชน์และไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำเลยได้ เมื่อคำนึงถึงอายุ สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว มีเหตุอันควรปรานี ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับกระทงละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อรวมทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 12 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6