โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินโดยกล่าวว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของนายสอนนางงิ้ว ตกทอดมาถึงโจทก์และพวกญาติต่างปกครองเป็นส่วนสัด ต่อมาตกลงกันให้นาง ก.เป็นผู้นำรังวัดออกโฉนดใส่ชื่อ นาง ก. และ อ. เมื่อนาง ก. ตายแล้ว อ.ได้ดำเนินการถอนชื่อนาง ก. ออกเหลือแต่ อ. คนเดียว แล้วยื่นคำร้องขอแบ่งแยกให้โจทก์และนายเชื่อมต่อไป ซึ่งความเหล่านี้จำเลยไม่ปฏิเสธ แต่ต่อสู้ว่าโจทก์ได้สละสิทธิในที่รายนี้แล้ว
ศาลจังหวัดสิงหบุรี เห็นว่า โจทก์ไม่ยอมช่วยจำเลยที่ 1 เมื่อเป็นความกับผู้อื่น และไม่คัดค้านการประกาศรับมรดกทั้ง 2 ครั้งเป็นการสละสิทธิอยู่ในตัว ที่ อ. และจำเลยประกาศจะแบ่งแยกก็เป็นเพียงตั้งใจ การยกให้ยังไม่สำเร็จ พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์พูดด้วยปากยังไม่ใช่สละมรดกไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ที่ไม่คัดค้านเพราะ อ. และจำเลยที่ 1 ยินดีแบ่งให้โจทก์เสมอมา และฟังว่านาง ก. ปกครองที่ดินแทนโจทก์ ส่วนแปลงของนายเชื่อมที่ว่ายกให้โจทก์ พยานยังฟังเป็นความจริงไม่ได้ พิพากษาแก้ให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ 2 แถว และเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ยกที่ขอส่วนของนายเชื่อม
จำเลยฎีกาว่า การสละสิทธิเพียงแสดงเจตนาตามมาตรา 1379 ก็พอ
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์สละสิทธิเท่ากับยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิในที่รายนี้จริง แต่ข้อที่จำเลยว่าโจทก์สละสิทธิฟังไม่ขึ้น เพราะแม้จะถือตามจำเลยฎีกาว่าไม่ใช่เป็นการสละมรดกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ดังศาลอุทธรณ์ว่าก็เป็นการให้กรรมสิทธิในที่ดิน จะให้กันโดยปากเปล่าไม่มีผลกรณีไม่เข้า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1379 ซึ่งเป็นเรื่องการโอนการครอบครอง หาใช่เป็นเรื่องสละสิทธิในส่วนได้ในที่ดินดังเช่นในคดีนี้ไม่
พิพากษายืน