โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายณรงค์กร กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พ. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พ. ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำรายงานการประชุมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอกะทู้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขอจดทะเบียนโอนขายที่ดิน 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท ด. โดยรายงานการประชุมระบุว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยเป็นประธานในการประชุม พิจารณาวาระที่ 1 เรื่องไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1974, 1975, 1976, 1977 และ 2599 วาระที่ 2 เรื่อง การขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 5 แปลง ดังกล่าวให้แก่บริษัท ด. ในราคา 15,000,000 บาท ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการตามเสนอ และจำเลยลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมดังกล่าว พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่า ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วม โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่า รายงานการประชุม วันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ระบุว่าจำเลยเป็นประธานที่ประชุม มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 4 คน ที่ประชุมมีมติไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 5 แปลง ให้แก่บริษัท ด. ในราคา 15,000,000 บาท นั้น ความจริงวันดังกล่าวไม่มีการประชุม โจทก์ร่วมนายสายชนหรือธฤต และนางสาวสาคร ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยนางสาวสาครเสียชีวิตก่อนวันประชุมแล้ว ต่อมาจำเลยนำรายงานการประชุมที่จำเลยทำขึ้นไปยื่นต่อสำนักงานที่ดินอำเภอกะทู้ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.5 บริษัท พ. มีกรรมการของบริษัท 2 คน คือ โจทก์ร่วมและจำเลยกรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและตามข้อบังคับของบริษัท พ. ข้อ 8 ต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุมปรึกษากิจการได้ ข้อ 9 คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบจัดการงานทั้งปวงของบริษัท และให้กรรมการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นเป็นประธานหนึ่งคน ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัท พ. อันมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงมีอำนาจดำเนินการของบริษัทได้ รวมทั้งเมื่อเห็นสมควร เรียกประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท ด. เนื่องจากบริษัท พ. ขาดทุนในการประกอบกิจการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 11 โดยข้อบังคับข้อ 14 กำหนดว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้นให้ประธานกรรมการเป็นประธานที่ประชุม ถ้าไม่มีตัวประธานกรรมการหรือประธานกรรมการมิได้มาเข้าประชุม ให้ที่ประชุมเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งซึ่งได้เข้าร่วมประชุมขึ้นเป็นประธานกรณีนี้จำเลยจึงมีอำนาจเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ แต่เมื่อระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยซึ่งต่างเป็นกรรมการของบริษัท ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกผู้ใดเป็นประธานกรรมการ เท่ากับไม่มีตัวประธานกรรมการ ในการประชุมที่ประชุมจึงต้องเลือกผู้ถือหุ้นคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานแต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยจึงไม่อาจได้รับเลือกเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ การที่ความจริงไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 การประชุมตามวาระและข้อมติตามวาระการประชุมจึงเป็นความเท็จ เช่นเดียวกับที่ระบุว่าจำเลยเป็นประธานในที่ประชุม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่มีข้อบังคับของบริษัท พ. ตราไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวด้วยบริษัทจำกัดมาใช้บังคับตามข้อบังคับของบริษัทข้อ 1 ดังนั้น ในการประชุมจำเลยซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทจึงมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุม และข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงไว้โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยจัดทำรายงานการประชุมจึงเป็นการจัดทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยแม้ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันดังกล่าว และวาระการประชุมและข้อมติจะเป็นความเท็จ รายงานการประชุมก็ไม่เป็นเอกสารปลอม คงเป็นรายงานการประชุมที่จำเลยทำขึ้นเป็นเท็จ ส่วนการที่จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมดังกล่าว 2 แห่งใต้ข้อความว่า รับรองรายงานการประชุมถูกต้อง ซึ่งการลงลายมือชื่อแห่งหนึ่งย่อมเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม ส่วนการลงลายมือชื่ออีกแห่งหนึ่ง แม้น่าจะเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุม ซึ่งจำเลยไม่อาจเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่การลงลายมือชื่อของผู้เป็นประธานแห่งการประชุมมีผลต่างจากการจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุมของกรรมการ โดยการลงลายมือชื่อของประธานที่ประชุมนั้น กฎหมายเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ารายงานการประชุมเป็นหลักฐานอันถูกต้องแห่งข้อความที่ได้จดบันทึกนั้น และสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการลงมติและการดำเนินของที่ประชุมอันได้จดบันทึกไว้ได้เป็นไปโดยชอบเท่านั้น จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประธานที่ประชุมที่ต้องจัดทำหรือรับรองรายงานการประชุม การที่จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมซึ่งแม้เป็นความเท็จ แต่เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อของตนเอง จึงเป็นการลงลายมือชื่อจำเลยว่าเป็นประธานที่ประชุมอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำปลอมรายงานการประชุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการปลอมเอกสารและไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิได้ เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน