โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองหยุดการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 โดยตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ชำระบัญชี ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเอกสารและทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อชำระบัญชี ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองขัดขวางโจทก์ที่ 1 ในการเข้าไปในที่ทำการของจำเลยที่ 1 เพื่อการชำระบัญชีกับให้จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้มาแบ่งให้แก่เจ้าของรวมทุกคน หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อบังคับคดี
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 นางสาวนิรมล และนายนิรันดร์ เป็นบุตรของนายจุ้ยคุง หรือสุริยา และนางเซาะเฮี้ย นางเซาะเฮี้ยมีน้องชายชื่อนายสุวิทย์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าข้าว ปัจจุบันมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ทั้งสอง นางสาวนิรมล และนายนิรันดร์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เดิมเมื่อปี 2523 นายจุ้ยคุงและนางเซาะเฮี้ยร่วมกันตั้งห้างจำเลยที่ 1 ขึ้น มีโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และนายจุ้ยคุงกับนายสุวิทย์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2526 โจทก์ที่ 1 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและโอนหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน แล้วโจทก์ที่ 1 มาทำหน้าที่พนักงานบัญชี ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 นางเซาะเฮี้ยถึงแก่ความตาย และวันที่ 5 พฤษภาคม 2546 นายจุ้ยคุงถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสอง นางสาวนิรมล และนายนิรันดร์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และนายสุวิทย์ขอแบ่งมรดกในเงินลงหุ้นที่นายจุ้ยคุงมีอยู่ในห้างจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ให้จำเลยที่ 2 แบ่งมรดกและนายสุวิทย์โอนหุ้นตามสัดส่วนที่กำหนดให้โจทก์ทั้งสอง นางสาวนิรมลและนายนิรันดร์ ตามสำเนาคำพิพากษาและสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1269/2546 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสอง นางสาวนิรมลและนายนิรันดร์จึงเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างจำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียน ก่อนหน้านี้โจทก์ทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่โรงสีของจำเลยที่ 1 แต่หลังจากยื่นฟ้องคดีขอแบ่งมรดกแล้ว โจทก์ทั้งสองย้ายออกไปพักอาศัยที่อื่น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่ว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าข้าวอันเป็นการแข่งขันกับกิจการอันเป็นวัตถุประสงค์ของห้างจำเลยที่ 1 เป็นการล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญของการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องโดยอ้างถึงเหตุที่ขอให้ศาลสั่งให้ห้างจำเลยที่ 1 เลิกกันว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีความสามารถในการบริหารกิจการ ไม่เคยแจ้งผลการประกอบกิจการของห้างจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ทั้งสองและผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองและผู้เป็นหุ้นส่วนเข้าไปในที่ทำการของห้างจำเลยที่ 1 เพื่อตรวจสอบการดำเนินกิจการ กิจการของห้างจำเลยที่ 1 ทำไปก็มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดกับจำเลยที่ 2 ไม่ปรองดองกัน โดยไม่ปรากฏว่าได้อ้างถึงการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าขายอันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทั้งสองเพิ่งยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า มีเหตุต้องเลิกห้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องอ้างว่า มีเหตุที่ห้างจำเลยที่ 1 จะเลิกกันตามกฎหมายเนื่องจากจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีความสามารถในการบริหารกิจการ ไม่แจ้งผลการประกอบกิจการของห้างจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ทั้งสองและผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองและผู้เป็นหุ้นส่วนเข้าไปในที่ทำการของห้างจำเลยที่ 1 เพื่อตรวจสอบการดำเนินกิจการ กิจการของห้างจำเลยที่ 1 ทำไปก็มีแต่จะขาดทุนอย่างเดียว และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดกับจำเลยที่ 2 ไม่ปรองดองกัน เช่นนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามนั้น แต่โจทก์ทั้งสองมีเพียงตัวโจทก์ทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ก่อนโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และนายสุวิทย์ น้องชายนางเซาะเฮี้ยเพื่อขอแบ่งมรดกของบิดา โจทก์ทั้งสองพักอาศัยอยู่ภายในโรงสีของห้างจำเลยที่ 1 แต่หลังจากยื่นฟ้องแล้วจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทั้งสองออกจากโรงสีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่เคยแจ้งผลการประกอบกิจการห้างจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสองตลอดจนทายาทอื่นทราบ และโจทก์ทั้งสองไม่พูดคุยกับจำเลยที่ 2 การบริหารงานของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นที่ไว้วางใจ แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นเกี่ยวข้องรวมทั้งผู้เป็นหุ้นส่วนอื่น ตลอดจนพยานเอกสารใดๆ มาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยที่ 2 นายสุวิทย์ซึ่งร่วมก่อตั้งห้างจำเลยที่ 1 และปัจจุบันทำหน้าที่หลงจู๊หรือผู้ซื้อขายและตรวจคุณภาพข้าวให้แก่จำเลยที่ 1 กับนายกิมตี้ น้องชายนายจุ้ยคุง เบิกความเป็นพยานเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงสีของจำเลยที่ 1 มาตามลำดับตั้งแต่ครั้งนายจุ้ยคุงยังมีชีวิตอยู่จนถึงช่วงที่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการว่า กิจการของจำเลยที่ 1 เป็นไปด้วยดี บางปีมีกำไรแต่บางปีก็ขาดทุนด้วยสาเหตุต่างๆ แต่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รายได้ของจำเลยที่ 1 สามารถนำไปให้การอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ได้ทั้งตระกูล ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีนายไพรสัณฑ์ เจ้าของบริษัทโรงสีเรืองไทย จำกัด เบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกัน นายไพรสัณฑ์นี้นอกจากจะประกอบกิจการค้าขายข้าวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แล้ว ยังเป็นรองประธานชมรมโรงสีจังหวัดนครสวรรค์ ดังนี้ย่อมเป็นผู้ที่รู้จักและรับทราบการดำเนินกิจการของโรงสีในพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี เมื่อนายไพรสัณฑ์เบิกความว่า กิจการของจำเลยที่ 1 ดำเนินการมาด้วยดีโดยตลอด สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ คำเบิกความของนายไพรสัณฑ์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเช่นนั้น และจำเลยทั้งสองยังมีนายวิชัย ผู้จัดทำบัญชีงบดุลให้ห้างจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานประกอบงบดุลปี 2545 ถึงปี 2548 ของจำเลยที่ 1 ยืนยันว่า ผลประกอบการของจำเลยที่ 1 มีเพียงปี 2548 เท่านั้นที่ขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการประกอบธุรกิจเนื่องจากมีปัญหาข้าวเปลือกเสื่อมคุณภาพ การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 ยังสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการประกอบกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามงบดุลดังกล่าวแล้ว ก็เห็นได้ว่าในแต่ละปีมีผลกำไรมากกว่าขาดทุน ผลประกอบการจึงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ปัจจุบันจะยังมีหนี้สินอยู่แต่ก็ลดจำนวนลงมากแล้ว อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยังสามารถบริหารกิจการจำเลยที่ 1 ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้นางสาวนิรมลผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งในห้างจำเลยที่ 1 ทั้งยังเป็นพี่น้องกับโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ได้เบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองว่า การบริหารงานของจำเลยที่ 2 ดำเนินไปด้วยดี ระหว่างที่พยานและนายนิรันดร์ น้องชายยังศึกษาอยู่ เงินที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียนก็ได้มาจากรายได้ของโรงสี จำเลยที่ 2 มีความรู้ความสามารถในการบริหารงาน พยานสามารถเข้าตรวจกิจการของโรงสีได้ พยานไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารห้างจำเลยที่ 1 ต่อไป และไม่ประสงค์จะเลิกห้าง สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 นายสุวิทย์ และนายกิมตี้ดังกล่าวมาแล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่แจ้งผลการประกอบกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสองทราบและไม่ให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปในที่ทำการของห้างจำเลยที่ 1 เพื่อตรวจสอบกิจการก็เห็นว่า ในการประกอบกิจการห้างจำเลยที่ 1 ได้จัดทำงบดุล งบกำไรขาดทุน ตลอดจนรายการทางบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ส่งแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดนครสวรรค์ตลอดมา โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนย่อมสามารถตรวจสอบเอกสารทางบัญชีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์กีดกันมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปภายในโรงสีอย่างไร นางนิรมลก็เบิกความยืนยันว่า สามารถเข้าไปตรวจสอบกิจการได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ยังชวนให้กลับเข้าไปอยู่ที่โรงสีด้วย ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองต้องออกไปจากโรงสีก็ได้ความว่าเป็นช่วงเวลาภายหลังโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อขอแบ่งมรดกของบิดา จึงน่าเชื่อว่าเป็นเพราะเกิดความไม่พึงพอใจที่มีการฟ้องร้องกันในระหว่างทายาท หาใช่เป็นการกีดกันผู้เป็นหุ้นส่วนมิให้รับรู้การประกอบกิจการของห้างจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กิจการห้างจำเลยที่ 1 เป็นกิจการที่บิดามารดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา ผู้เป็นหุ้นส่วนล้วนเป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น ผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการดำรงอยู่หรือเลิกห้างจึงมีแต่บรรดาพี่น้องของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งต่างถือหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 ซึ่งนอกจากตัวโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ที่มีกรณีพิพาทกันเป็นคดีนี้แล้วก็คือ นางสาวนิรมลและนายนิรันดร์ แต่นางสาวนิรมลเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองแสดงความประสงค์ให้ห้างดำรงอยู่ต่อไปและให้ความไว้วางใจจำเลยที่ 2 ในการบริหารงาน ส่วนนายนิรันดร์มิได้มาเบิกความเป็นพยานให้แก่ฝ่ายใด ญาติคนอื่นซึ่งเป็นน้องของบิดามารดาล้วนเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสอง เช่นนี้พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ายังไม่มีเหตุอันจะเลิกห้างจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุเลิกห้างจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ทุจริตถ่ายเทเงินจากบัญชีเงินฝากของห้างจำเลยที่ 1 มาเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ก็เห็นว่า เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ทั้งสองที่จะฎีกาโต้แย้งแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสองต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ) จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยระบุในคำฟ้องว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 นายนิรันดร์ และนางสาวนิรมล จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่าที่ดินพิพาทใช้เป็นที่ตั้งกิจการโรงสีไฟของจำเลยที่ 1 และบ้านพักอาศัย จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไถ่ถอนจำนองและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน การแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยวิธีขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งในเวลาที่มิใช่โอกาสอันควร มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสองและหุ้นส่วนคนอื่น ๆ โดยจำเลยทั้งสองมิได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของห้างที่จะต้องนำมาเพื่อการชำระบัญชี หรือเป็นทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับเจ้าของรวมคนอื่นจึงเป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของนายจุ้ยคุงนำมาลงทุนเป็นหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 อันเท่ากับรับฟังว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทั้งสองต้องไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเรียกให้จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองและแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีที่มาจากสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1269/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ทั้งสอง นางสาวนิรมล และนายนิรันดร์ฟ้องจำเลยที่ 2 และนายสุวิทย์ขอแบ่งมรดกของนายจุ้ยคุง สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยรวมเป็นการตกลงแบ่งมรดกในส่วนที่เป็นที่ดินรวม 8 แปลง และหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 กับหุ้นในบริษัทรัชตคำนูณ จำกัด สำหรับที่ดินแปลงอื่นที่จดทะเบียนจำนองไว้ได้ระบุข้อความโดยชัดเจนว่าให้นำเงินของจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนให้แก่ทายาทที่ระบุชื่อไว้ แต่ในส่วนของที่ดินพิพาทซึ่งขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีภาระจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)อยู่ก่อนแล้ว ไม่มีการกล่าวถึงการไถ่ถอนจำนองไว้แต่อย่างใด เพียงแต่ระบุส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนเท่านั้นดังปรากฏในสัญญา ข้อ 1. ซึ่งส่วนที่แต่ละคนได้รับดังกล่าวล้วนเท่ากับส่วนของหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 ที่แต่ละคนได้รับดังที่ระบุในสัญญาข้อ 2. ดังนี้เมื่อรับฟังประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของโรงสีและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน และหนี้ที่ที่ดินพิพาทจำนองเป็นประกันก็เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคารมาเพื่อใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เมื่อเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทก็คือผู้ถือหุ้นในห้างจำเลยที่ 1 โดยมีส่วนในที่ดินเท่ากับส่วนของหุ้นที่ได้รับ จึงเห็นได้ว่าผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินต่างมีเจตนาใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่ประกอบกิจการโรงสี และใช้เป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กันต่อไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 หากจะแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเสียในขณะนี้ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนาดังกล่าวทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของห้างให้ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งที่ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่ายังไม่มีเหตุให้ต้องเลิกห้าง อันจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งหมดทุกคน แม้เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งๆ จะมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ แต่จะเรียกให้แบ่งในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคสาม พฤติการณ์ดังกล่าวมาถือได้ว่ายังไม่เป็นโอกาสอันควรที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่อาจเรียกให้แบ่งที่ดินพิพาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างตลอดจนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองอีก เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษา
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์อัตราค่าทนายความต้องกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2551 มาตรา 21 ที่ให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งตาราง 6 ระบุว่าคดีไม่มีทุนทรัพย์ อัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท จึงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ