โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบห้องชุดเลขที่ 457/321 ชั้นที่ 13 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 12/2540 พร้อมติดตั้งเครื่องเรือนที่มีคุณภาพให้โจทก์ทั้งสองและรับชำระเงินค่าห้องชุดส่วนที่เหลือจำนวน 651,441 บาท จากโจทก์ทั้งสอง หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์หรือส่งมอบห้องชุดได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 818,098 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์อัตราวันละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบห้องชุดดังกล่าวหรือชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ
จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบห้องชุดเลขที่ 457/321 ชั้นที่ 13 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 12/2540 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 31483, 31485 ถึง 31487 และ 40158 พร้อมเฟอร์นิเจอร์ตามสัญญาให้โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 นำเงินจำนวน 651,441 บาท ไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เพื่อชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว หากจำเลยที่ 2 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 372,559 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์หรือชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533 โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ - อาเขต ห้องชุดเลขที่ 12 เอ 05 ในราคา 905,000 บาท กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะก่อสร้างอาคารชุดให้เสร็จภายใน 2 ปี และโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์กับจำเลยที่ 1 ในราคา 119,000 บาท เพื่อติดตั้งในห้องชุดเลขที่ 12 เอ 05 รวมเป็นราคาห้องชุดที่เสร็จสมบูรณ์ 1,024,000 บาท โจทก์ทั้งสองชำระเงินแล้วจำนวน 372,559 บาท ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ชำระจำนวน 651,441 บาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารชุดไม่เสร็จภายในกำหนดเวลา วันที่ 18 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 ดำเนินการออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นห้องชุดเลขที่ 457/321 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ - อาเขตเป็นอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพร้อมอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ให้แก่นายวิษณุ วันที่ 28 มิถุนายน 2548 นายวิษณุขอเปลี่ยนตัวผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขายจากนายวิษณุเป็นจำเลยที่ 2 วันที่ 29 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายห้องชุดรวมจำนวน 695 ห้อง ในอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งรวมถึงห้องชุดที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 เปลี่ยนอาคารชุดจอมเทียนทาวเวอร์เป็นโรงแรม จำเลยที่ 2 ไม่เคยเปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับลูกค้าของจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายแทนจำเลยที่ 1 คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ทั้งสองไว้ก่อนได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้จะขายได้ทำสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์เพื่อติดตั้งในห้องชุดนั้นกับโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อ จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยก่อสร้างอาคารชุดพร้อมทำเฟอร์นิเจอร์ติดตั้งให้แล้วเสร็จสมบูรณ์และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กับส่งมอบห้องชุดดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนกรณีที่ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายโดยขายอาคารชุดทั้งหมดในโครงการให้แก่นายวิษณุซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 ตามสัญญาซื้อขาย โดยสัญญาฉบับนี้มีข้อตกลงว่า ถ้านายวิษณุจะให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ก็ตกลงยินยอม ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 1 กับนายวิษณุตกลงกันให้เปลี่ยนชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยที่ 2 แล้วทำสัญญาใหม่ และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมดรวมทั้งห้องที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อไว้ก่อนแก่จำเลยที่ 2 ปรากฏว่าก่อนที่จะมีการทำสัญญากันใหม่ นายวิษณุมีหนังสือลงวันที่ 28 มิถุนายน 2548 ถึงจำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อจากนายวิษณุเป็นจำเลยที่ 2 โดยแจ้งแก่จำเลยที่ 1 ด้วยว่า ข้อตกลงในการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุยังให้มีสภาพบังคับและเงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเดิมที่ทำกันไว้ ซึ่งหมายถึงสัญญาซื้อขายอาคารชุดทั้งโครงการระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุ ในการพิจารณาข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุและจำเลยที่ 2 จึงต้องพิจารณาสัญญา และสัญญาที่ทำกันใหม่ดังกล่าวที่ประกอบกัน ซึ่งโดยเฉพาะในส่วนข้อสัญญาที่กล่าวถึงลูกค้าที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนแล้วนั้น ปรากฏว่าตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุ ระบุว่า ผู้ซื้อ (นายวิษณุ) ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องสำหรับคู่สัญญาที่เป็นลูกค้าทุกรายของผู้ขาย (จำเลยที่ 1) ในโครงการจอมเทียนทาวเวอร์ และเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ (นายวิษณุ) ที่ต้องรับผิดชอบในภาระตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับลูกค้าทุกรายแทนผู้ขาย (จำเลยที่ 1) โดยผู้ซื้อจะต้องดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้าเป็นผู้ซื้อ (นายวิษณุ) เข้าทำสัญญาแทนผู้ขาย (จำเลยที่ 1) ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เปลี่ยนเป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้จะซื้อแทนนายวิษณุก็ยังคงมีข้อสัญญาคงเดิมเช่นเดียวกับสัญญา คงเปลี่ยนคู่สัญญาจากนายวิษณุเป็นจำเลยที่ 2 เท่านั้น เห็นได้ว่านายวิษณุกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่านายวิษณุและจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้แก่ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้โดยตรงแก่โจทก์ทั้งสองได้ แต่ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามสัญญาข้อ 6 ดังกล่าวนี้มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า นายวิษณุต้องดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองเป็นนายวิษณุเข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตามข้อสัญญากันใหม่เป็นหนังสือก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ที่นายวิษณุจะได้ตรวจสอบสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับลูกค้าไว้ก่อน และปรากฏว่านายวิษณุกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้เปลี่ยนทำสัญญาใหม่กับโจทก์ทั้งสองเป็นหนังสือแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองย่อมยังไม่มีสิทธิถือเอาประโยชน์ตามข้อสัญญาข้อ 6 นี้ นั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 2 ที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทออกให้ ระบุว่า จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2545 มีนายวิษณุเป็นกรรมการบริษัทเพียงคนเดียวที่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 มีทุนจดทะเบียนจำนวนสูงถึง 700,000,000 บาท เดิมจำเลยที่ 2 มีชื่อว่าบริษัทเคเอ็นจี กรุ๊ป บ้านและที่ดิน จำกัด ตามคำเบิกความของนายปรีชา พยานจำเลยที่ 2 ก็ได้ความว่านายปรีชาเป็นพนักงานบริษัทจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนิติกรรมตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งนายปรีชาก็เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 มีความสามารถในการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และมีบุคลากรทางกฎหมายที่สามารถให้คำปรึกษาแนะนำเป็นอย่างดี ในการที่จำเลยที่ 2 ตกลงซื้ออาคารชุดทั้งโครงการจากจำเลยที่ 1 นั้นก็ปรากฏตามหนังสือสัญญาขายห้องชุดรวมจำนวน 695 ห้อง ว่าจำเลยที่ 2 ต้องชำระเงินตามสัญญานี้จำนวน 550,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนสูงมาก จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินอาคารชุดที่จะซื้อนี้โดยละเอียดก่อนจนทราบดีว่ามีห้องชุดที่ทำสัญญาจะขายแก่ลูกค้าแล้วและมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าห้องชุดที่เหลือจากลูกค้าเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งมีภาระที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ลูกค้ากี่ห้อง และในสัญญาซื้อขาย ข้อ 10 ปรากฏว่านายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า ก่อนทำสัญญานายวิษณุได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพที่ดิน อาคาร ภาระหนี้ รวมตลอดถึงความรับผิดต่อลูกค้าในโครงการจอมเทียนทาวเวอร์ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว เห็นว่าตรงตามความต้องการแห่งตนทุกประการ โดยจำเลยที่ 1 ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องสภาพหนี้ หรือลูกค้าภายหลังทำสัญญานี้ และตามสัญญาซื้อขาย ก็ยังมีรายงานการขายและลูกค้าแนบท้ายสัญญา แสดงรายละเอียดห้องชุดแต่ละชั้นที่ยังไม่ได้ขายและที่ขายแล้ว รวมทั้งจำนวนเงินแสดงราคาห้องชุด ราคาที่ขายไปจำนวนเงินที่ลูกค้าชำระไว้แล้ว และจำนวนเงินยังค้างต้องชำระในการโอนกรรมสิทธิ์โดยละเอียดดังนี้ย่อมแสดงว่าขณะทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวนี้นายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ทราบรายละเอียดรวมทั้งภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองดีอยู่แล้ว จึงสามารถคิดคำนวณราคาและตกลงราคาซื้อกับจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งหากนายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 จะซื้อห้องชุดในอาคารชุดนี้ทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 โดยนายวิษณุและจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองทั้ง ๆ ที่นายวิษณุและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่ามีลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดบางส่วนไว้กับจำเลยที่ 1 กรณีก็เป็นการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 ในลักษณะที่ทำให้ลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบและเป็นการที่นายวิษณุและจำเลยที่ 2 ได้รับโอนห้องชุดในอาคารชุดดังกล่าวมาโดยไม่สุจริต อันจะเป็นเหตุให้ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุและจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ซึ่งย่อมเป็นปัญหาแก่นายวิษณุและจำเลยที่ 2 ในการประกอบกิจการแสวงหาประโยชน์จากโครงการอาคารชุดที่ซื้อมานี้ด้วยเงินลงทุนสูง และมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่นายวิษณุและจำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่านายวิษณุและจำเลยที่ 2 ซึ่งมีที่ปรึกษากฎหมายอยู่แล้วจะทำสัญญาที่เสี่ยงต่อความเสียหายเช่นนี้ และตามเหตุผลดังกล่าวนี้ยังกลับแสดงให้เห็นว่านายวิษณุและจำเลยที่ 2 จำเป็นต้องเข้าทำสัญญาซื้อขายอาคารชุดกับจำเลยที่ 1 โดยต้องรับภาระชำระหนี้แก่ลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้เดิมของจำเลยที่ 1 โดยนายวิษณุและจำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบภาระหนี้ที่จะต้องรับผิดชอบโดยชำระแก่ลูกค้าเดิมแล้วนำมาใช้ประกอบการคิดคำนวณราคาที่จะซื้ออาคารชุดทั้งโครงการจากจำเลยที่ 1 ได้ ดังที่มีรายละเอียดปรากฏในรายงานการขายและลูกค้าที่แนบท้ายสัญญาซื้อขายดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ดังนี้ ย่อมไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าข้อความในสัญญาซื้อขาย ข้อ 6 ที่ว่า นายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อต้องดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้าเป็นนายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 นั้น เป็นข้อสัญญาที่คู่สัญญามีเจตนาให้เป็นเงื่อนไขเพื่อประโยชน์แก่นายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ในอันที่จะเลือกว่าจะชำระหนี้แก่ลูกค้าเดิมหรือไม่ก็ได้ซึ่งจะทำให้ลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้เดิมเสียเปรียบและมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่นายวิษณุกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 ทำกับจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งการตีความข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างเช่นนี้ก็จะเป็นการตีความเพื่อให้นายวิษณุและจำเลยที่ 2 ได้เอาเปรียบลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 อยู่เดิม และเป็นผู้บริโภคโดยไม่สุจริตอันไม่เป็นการตีความวัตถุประสงค์ในทางสุจริต จึงขัดต่อหลักกฎหมายในการตีความสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 นอกจากนี้ในการที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายอาคารชุดทั้งโครงการแก่นายวิษณุและจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะมีข้อสัญญาให้นายวิษณุและจำเลยที่ 2 รับผิดชอบในการชำระหนี้แก่ลูกค้าผู้ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ก็ตาม สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิษณุและจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาเพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเท่านั้น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความผูกพันในฐานะลูกหนี้ต่อลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เว้นแต่ลูกค้าผู้เป็นเจ้าหนี้นั้นจะตกลงให้เปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำสัญญากับลูกหนี้คนใหม่ อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 จึงเป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นได้ว่าข้อสัญญาที่ให้นายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 ดำเนินการเปลี่ยนสัญญากับลูกค้าของจำเลยที่ 1 เป็นนายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 นั้น ก็เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือเป็นกรณีที่ลูกค้าเดิมยอมเลิกสัญญาเดิมที่ลูกค้าทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 แล้วทำสัญญาใหม่กับนายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 แทนที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อลูกค้าตามสัญญาเดิม อันเป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ใช่ข้อสัญญาอันเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนให้ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องเข้าทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือใหม่กับนายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 ก่อนแล้วลูกค้าหรือโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากนายวิษณุและจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา แต่เป็นข้อสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่โจทก์ทั้งสองผู้เป็นลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามข้อสัญญาดังกล่าวมีสิทธิแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ได้โดยไม่จำต้องทำสัญญาจะซื้อขายห้องชุดและสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์ใหม่กับนายวิษณุหรือจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 รับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและเฟอร์นิเจอร์ และโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนารับเอาประโยชน์นั้นแล้ว โจทก์ทั้งสองก็มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์และรับชำระค่าห้องชุดที่เหลือให้จำเลยที่ 2 ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความแล้วนั้น ปรากฏว่าในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงมิใช่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อนี้อีกว่า จำเลยที่ 2 ได้ปรับปรุงอาคารชุดนี้เป็นโรงแรมแล้ว สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์ทั้งสองได้นั้น ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ทั้งสองอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงวินิจฉัยให้โดยเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและอาคารชุดทั้งโครงการจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายที่จำเลยที่ 2 ตกลงที่จะปฏิบัติการชำระหนี้แก่ลูกค้าที่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วย อันเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก และโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาโดยการทำอาคารชุดให้เสร็จสมบูรณ์แล้วจดทะเบียนโอนแก่โจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 กลับนำอาคารชุดนี้ไปใช้ทำเป็นโรงแรม อันเป็นการปฏิบัติโดยไม่สุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองโดยปราศจากความรับผิดชอบเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองและลูกค้ารายอื่น จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจอ้างหรือถือเอาประโยชน์ใด ๆ อันเกิดจากการกระทำโดยไม่สุจริตเช่นนี้ของตนเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองก็ต้องร่วมกันคืนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระราคาห้องชุดพร้อมเฟอร์นิเจอร์มาแล้วจำนวน 372,559 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำฟ้อง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ในส่วนค่าขาดประโยชน์จำนวนเดือนละ 15,000 บาท นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2551 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์หรือชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาที่จำเลยที่ 2 รับจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาจะซื้อจะขายเฟอร์นิเจอร์ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ทั้งสองแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองแสดงเจตนารับเอาประโยชน์แล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาดังกล่าว และเมื่อจำเลยที่ 2 ละเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้รวมทั้งเรียกค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และมาตรา 222 และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ที่ 1 ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้อันถือได้ว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับชำระหนี้ โดยการได้รับโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบห้องชุดตามคำฟ้องในสภาพสมบูรณ์พร้อมเฟอร์นิเจอร์จากจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 ยังเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในห้องชุดและเฟอร์นิเจอร์ตามสัญญาได้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ควรได้ใช้ประโยชน์หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่วิญญูชนทั่วไปพึงคาดเห็นได้อยู่แล้ว จึงเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้นั้นซึ่งโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนได้ ตามประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง หาใช่ค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษที่จำเลยที่ 2 ไม่อาจคาดเห็นหรือควรคาดเห็นได้ล่วงหน้าที่โจทก์ที่ 1 จะเรียกไม่ได้ตามมาตรา 222 วรรคสอง ไม่ แต่เมื่อได้ความว่าราคาห้องชุดและอาคารชุดดังกล่าวมีเป็นมูลค่าสูงขึ้นเกิดจากการปรับปรุงและพัฒนาของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้กับจำเลยที่ 1 มีจำนวนเพียง 375,559 บาท เมื่อเทียบกับราคาห้องชุดพร้อมเฟอร์นิเจอร์จำนวน 1,024,000 บาท ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ชำระอีกจำนวน 651,441 บาท ค่าขาดประโยชน์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ในอัตราเดือนละ 15,000 บาท นั้น สูงเกินไป เห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงินจำนวน 279,420 บาท และคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญาอันเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 245 (1) ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 279,420 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1