โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 8,893,807.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 7,238,625.01 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 4,506.84 บาท และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกัน 98,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ 3,051,458.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด ลบ 0.5 ต่อปี ตามประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของโจทก์ของต้นเงิน 3,051,458.80 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดยดอกเบี้ยดังกล่าวปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลดแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวที่ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้อง และที่ประกาศโจทก์ให้มีผลบังคับต่อไปหลังวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอและให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามหนี้สัญญาเงินกู้แก่โจทก์ 5,235,902.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 4,187,166.21 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มิถุนายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 4,506.84 บาท และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 98,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ตามหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ 3,051,458.80 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนด ลบ 0.5 ต่อปี ตามประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของโจทก์ของต้นเงิน 3,051,458.80 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดยดอกเบี้ยดังกล่าวปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลดแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ดังกล่าวที่ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้อง และที่ประกาศโจทก์ให้มีผลบังคับต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามหนี้สัญญาเงินกู้แก่โจทก์ 5,235,902.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 4,187,166.21 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มิถุนายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 4,506.84 บาทและค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 98,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 68610 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าตามสัญญากู้ยืมหนี้สินและภาระผูกพันทุกอย่างทุกประเภทของจำเลยที่มีต่อโจทก์ทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะจำนอง และที่จะมีขึ้นในเวลาภายหน้าชำระหนี้ที่ประกันไว้จำนวน 3,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ 2,926,432.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม โอ อาร์ ลบ 0.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็ม โอ อาร์ ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของโจทก์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้อง และที่โจทก์จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันถัดจากวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในส่วนดอกเบี้ยเพียง 60 วัน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้แก่โจทก์ 4,187,166.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม แอล อาร์ ลบ 0.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มิถุนายน 2561) โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของโจทก์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในส่วนดอกเบี้ยเพียง 60 วัน ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัย 4,506.84 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 1,502.28 บาท แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมชำระค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 172,448 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า แม้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุใจความว่า จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตกลงให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้ และสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่เมื่อพิจารณารายการเดินบัญชีกระแสรายวัน ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 จำเลยที่ 1 โอนเงินฝากเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ 47,573 บาท โจทก์นำไปหักชำระต้นเงินหักทอนบัญชีในวันดังกล่าว คงเหลือยอดเงินค้างชำระเป็นเงิน 2,926,432.96 บาท ซึ่งยอดเงินที่ค้างชำระใกล้เคียงกับวงเงินตามสัญญาแล้ว หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี และไม่ปรากฏว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์ที่จะเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป จึงต้องถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงโดยปริยายในวันที่ 30 กันยายน 2559 ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ต่อไป ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเมื่อใดนั้น เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถือว่ามีการผิดนัดก็ต่อเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์หักทอนบัญชีวันที่ 30 กันยายน 2559 และโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 กำหนดชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับตามกำหนด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 ก็ตาม แต่ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในข้อ 15 ก็ถือว่าส่งให้จำเลยที่ 1 โดยชอบ ดังนั้น เมื่อครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 25 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 มีผู้รับแทน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ตามหนังสือแจ้งการผิดนัดพร้อมใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.30 และ จ.31 ซึ่งเป็นเวลาภายใน 60 วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในต้นเงินและดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยเพียง 60 วันนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 โดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเพียงใดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินครั้งสุดท้ายวันที่ 20 ธันวาคม 2559 แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ในงวดถัดไปประจำวันที่ 18 มกราคม 2560 กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญากู้เงินตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 และปรากฏตามสำเนาหนังสือแจ้งการผิดนัดพร้อมใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้องว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีผู้รับแทน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะไม่ได้นำเอกสารดังกล่าวมาสืบเป็นพยานก็ตาม แต่เอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือแจ้งการผิดนัดดังกล่าวที่โจทก์แนบมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งการผิดนัดตามสัญญากู้เงินไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินในต้นเงินและดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยเพียง 60 วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญากู้เงินนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดที่ 2 กับงวดที่ 3 และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในค่าเบี้ยประกันภัยงวดที่ 2 กับงวดที่ 3 และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทดรองจ่ายไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดค่าเบี้ยประกันภัยงวดที่ 2 กับงวดที่ 3 และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยสองชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินตามสัญญากู้เงินนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในอัตราคงที่ตลอดไปนั้น เห็นว่า ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ โจทก์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้น หากนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปโจทก์ประกาศปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปที่ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ที่จะประกาศต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ตามที่ศาลล่างพิพากษา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ 2,926,432.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม โอ อาร์ ลบ 0.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปโดยอัตราดอกเบี้ยเอ็ม โอ อาร์ ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของโจทก์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้อง และที่โจทก์จะประกาศต่อๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มิถุนายน 2561) ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้แก่โจทก์ 4,187,166.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเอ็ม แอล อาร์ ลบ 0.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2560 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 มิถุนายน 2561) โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ ให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศของโจทก์ เรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดที่โจทก์ได้ประกาศไว้แล้วก่อนฟ้องและดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามประกาศของโจทก์ที่จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังวันฟ้องตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่อัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัย 4,506.84 บาท และค่าธรรมเนียมในการต่ออายุหนังสือค้ำประกัน 98,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ