โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 นำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ผู้ล้มละลายมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 1,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาจำนอง 1,950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 86489, 85125, 86492 และ 99003 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้นำมูลหนี้ตามฟ้องมายื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 และไม่อาจขอให้นำทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้แก่โจทก์ สำหรับกรณีที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 86489, 85125, 86492 และ 99003 จดทะเบียนเพิ่มจำนองไว้ต่อโจทก์ ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป และมูลหนี้ประธานมีลักษณะเป็นเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำนองคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 จึงเกิน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มูลหนี้ประธานจึงขาดอายุความ โจทก์มีสิทธิเพียงที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองไว้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยค้างชำระย้อนหลังเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดลำปาง คดีหมายเลขแดงที่ 597/2543 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์จากทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์จำนอง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินไถ่ถอนจำนอง 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562) ย้อนขึ้นไป หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 1 ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 86489, 85125, 86492 และ 99003 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินไถ่ถอนจำนอง 845,344.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562) ย้อนหลังไปไม่เกิน 5 ปี และให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2538 จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้เงิน 1,000,000 บาท จากธนาคาร น. นำที่ดินโฉนดเลขที่ 98280 และ 98283 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันในวงเงิน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ ธนาคาร น. จึงฟ้องบังคับชำระหนี้และบังคับจำนองจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดลำปาง ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 597/2543 ธนาคาร น. นำยึดที่ดินจำนองทั้งสองแปลง วันที่ 29 มิถุนายน 2544 ธนาคาร น. ได้โอนสิทธิเรียกร้องและสิทธิรับจำนองที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. วันที่ 25 กันยายน 2544 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. และปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 98283 เพื่อโอนขายแก่ผู้ซื้อโดยจำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระหนี้ 340,000 บาท และจดทะเบียนจำนองเพิ่มหลักประกันที่ดินพิพาทรวม 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 86489, 85125, 86492 และ 9903 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันให้แก่ธนาคาร น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ธนาคาร น. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องโอนสิทธิการรับจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันดังกล่าวให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ตามบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องการโอนสิทธิจำนอง วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 2 และสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2549 บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องการโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 ศาลจังหวัดลำปางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนโจทก์เดิมในคดีแพ่ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553 โจทก์เข้าประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 98280 ได้จากการขายทอดตลาด จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2553 จำนวน 2,478,584.39 บาท วันที่ 18 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลาย หมายเลขแดงที่ ล.2605/2556 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ให้ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 วันที่ 8 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น ต่อมามีประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปลดจำเลยที่ 2 จากการเป็นบุคคลล้มละลาย นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561
ก่อนวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์มิได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้หรือไม่เสียก่อน เห็นว่า แม้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายก็ตาม แต่ได้ความว่าหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันผู้รับโอนสิทธิจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในมูลหนี้จำนองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 95 ประกอบมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น ย่อมมีผลเป็นการสละสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 145 (3) ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงย่อมมิใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่รวบรวมนำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นนำเงินมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ ตลอดจนไม่มีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) แทนจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง ทั้งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ลูกหนี้มีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงได้ด้วยตนเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีแล้วย่อมร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับจำนองแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ