โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 41,021,240.94 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคำนวณเป็นสกุลเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์ จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยได้รับอนุญาตให้เปิดสาขาในประเทศไทย โจทก์และบริษัท ส. ทำสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ต. เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อ. จังหวัดระยอง จำเลยเป็นผู้เคยค้ากับกลุ่มบริษัทโจทก์มาก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุพิพาทจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงัก โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ให้ความคุ้มครองในวงเงิน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระบุชื่อธนาคาร พ. ในฐานะตัวแทนหลักประกันเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งมีข้อตกลงให้ใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับแก่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ อีกทั้งบรรดาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยให้อยู่ภายใต้อำนาจของศาลในประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวโดยไม่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้ จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่บริษัท ต. โดยนำเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยแล้ว รวม 57,964,961 ดอลลาร์สหรัฐ
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะชนะคดีในศาลชั้นต้นก็ตาม จำเลยก็ยังมีสิทธิที่จะตั้งประเด็นชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ ซึ่งจำเลยโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน โดยจำเลยโต้แย้งว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมิได้กระทำโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และเป็นเอกสารที่ทำขึ้นในต่างประเทศ โดยไม่มีกงสุลสยามหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตรับรองความถูกต้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายเดเนียล (Mr.Daniel) รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัยองค์กรของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.61 และ จ.62 โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า นายแบรดลีย์ (Mr.Bradley) ซึ่งเป็นเลขานุการบริษัทโจทก์ออกหนังสือรับรองว่านายริชาร์ดหรือริค (Mr.Richard or Rick) เป็นทนายความของโจทก์ซึ่งตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์สามารถมอบอำนาจให้แก่ที่ปรึกษาภายนอกทำการฟ้องคดีในนามของโจทก์ได้ ต่อมานายริชาร์ดหรือริคมอบอำนาจให้นายรัฐการ เป็นที่ปรึกษาภายนอกสำหรับการฟ้องคดีนี้ในนามของโจทก์ แล้วต่อมานายรัฐการลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเพื่อแต่งให้นายภุมมะ เป็นทนายโจทก์ซึ่งลงลายมือชื่อในคำฟ้องในการยื่นฟ้องคดีนี้ แม้เอกสารหมาย จ.61 และ จ.62 จะได้ทำขึ้นในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นเอกสารต้นฉบับซึ่งมีเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองในเอกสารดังกล่าวไว้ด้วย และแม้เอกสารดังกล่าวจะไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงว่าผู้ที่เป็นพยานรับรองนั้นเป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบให้เห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง กรณีย่อมไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ใบมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องทำตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม และไม่จำต้องมีกงสุลสยามหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว ส่วนที่จำเลยอ้างในคำแก้อุทธรณ์อีกว่า เอกสารหมาย จ.61 ระบุว่า นายริคมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่คดีนี้มีทุนทรัพย์เริ่มต้นคือ 69,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกินกว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ยกเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การและถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องการตีความหนังสือมอบอำนาจซึ่งได้แนบมาท้ายคำฟ้องด้วยนั้นเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยสามารถยกขึ้นอ้างในคำแก้อุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อตามเอกสารหมาย จ.61 ให้อำนาจในการฟ้องคดีแทนโจทก์โดยมิได้จำกัดจำนวนทุนทรัพย์ไว้ แต่ที่มีการระบุจำนวนเงินในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำใด ๆ การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี ข้อ 11 (2) ว่าจะต้องไม่เกิน 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นหมายถึง จำนวนเงินที่โจทก์จะได้รับชำระในการทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท (Settlement) กับผู้ที่ถูกโจทก์ฟ้องคดีเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการฟ้องคดีแทนโจทก์ นายริคย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์และมอบอำนาจให้นายรัฐการฟ้องคดีนี้ได้ โจทก์จึงมอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์จำเลยผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทหรือไม่ เพียงใด ในข้อนี้เห็นควรพิจารณาปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เป็นคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลย และเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น โจทก์มีนายเดเนียล (Mr.Daniel) รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันภัยองค์กรของโจทก์มาเบิกความว่า โจทก์ประกอบธุรกิจทั่วโลก เดิมธุรกิจทั้งหมดของโจทก์รวมทั้งบริษัท ต. ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture Company : JVC) ที่จัดตั้งขึ้นตามสัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์และบริษัท ส. ล้วนได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดซึ่งกำหนดความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองเป็นจำนวนหนึ่ง ในปี 2542 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามสัญญาร่วมทุนต้องการที่จะจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่น เพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดด้วย ทำให้มีการเจรจาเพื่อจัดทำกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดซึ่งให้ความคุ้มครองสำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน (Property Damage) รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) และภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง (Contingent Business Interruption) ซึ่งจำเลยตกลงเป็นผู้รับประกันภัยเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2554 จำเลยออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทซึ่งแผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 และให้ความคุ้มครองในวงเงิน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลานั้นผู้รับประกันภัยรายอื่นได้ตกลงรับประกันภัยธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดซึ่งระบุว่า ผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยโจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีอำนาจควบคุมกิจการได้ โดยมีการให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องในวงเงิน 1,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นความคุ้มครองสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 และมีการกำหนดความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเอง (DEDUCTIBLES) เป็นจำนวน 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีนางปรียา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินอาเซียนของบริษัท ป. และเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มาเบิกความว่า บริษัท ต. เป็นผู้รับบริการหลายประเภทจากบริษัท ป. และบริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโจทก์และโจทก์ถือหุ้นในบริษัททั้งสองเป็นจำนวนร้อยละ 99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัท ป. ยังเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารเงินด้วย ซึ่งการบริหารเงินนี้รวมถึงการจัดหากรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่นซึ่งมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดให้แก่บริษัท ต. โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายเดเนียล (Mr.Daniel) และมีการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในปี 2544 ซึ่งในขณะนั้นโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดและมีอำนาจบริหารกิจการของบริษัท ส. ต่อมาปี 2553 โจทก์ขายหุ้นดังกล่าวและไม่มีอำนาจบริหารกิจการของบริษัท ส. อีกต่อไป การจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับท้องถิ่นกระทำโดยวิธีการประมูลราคาซึ่งจำเลยจัดทำใบเสนอราคาส่งมาให้ทุกปี และนายเดเนียล (Mr.Daniel) เป็นผู้อนุมัติการจัดซื้อทุกครั้ง สำหรับการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 จำเลยได้รับหนังสือเชิญให้ทำการเสนอราคาตามสำเนาหนังสือเชิญ ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2554 จำเลยส่งใบเสนอราคาซึ่งระบุด้วยว่าผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง โจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ จนกระทั่งมีการอนุมัติให้จัดซื้อและชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลย และมีนายจอห์นหรือจอห์นนี่ (Mr.John or Johnnie) ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไป ส่วนบริหารฝ่ายวางแผนและการเงินของบริษัท ต. ระหว่างปี 2552 ถึงปี 2556 มาเบิกความว่า บริษัท ต. เป็นกิจการที่โจทก์และบริษัท ส. ใช้เงินลงทุนร่วมกันประมาณ 2,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในการประกอบกิจการดังกล่าวจะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปยังโจทก์และบริษัท ส. หรือมีการผลักภาระค่าใช้จ่ายผ่านทางราคาซื้อขายรถยนต์ที่ผลิตได้ เป็นวิธีการที่โจทก์ บริษัท ส. และบริษัท ต. ตกลงกันซึ่งเรียกว่าวิธีการเรียกคืนเงินทุนที่เสียไป (Return on Capital Employed หรือ ROCE) แม้บริษัท ต. จะเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลย แต่ก็ได้รับชำระคืนตามวิธีการดังกล่าวเช่นกัน ส่วนจำเลยมีนางรัตนา รองประธานอาวุโสของจำเลย ซึ่งมีหน้าที่พิจารณารับประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินและธุรกิจหยุดชะงัก มาเบิกความว่า ในการพิจารณารับประกันภัยนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลว่าทรัพย์สินใดจะมีการเอาประกันภัยไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยและจะให้คุ้มครองถึงกรณีธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งหากจะให้จำเลยรับประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักก็จะต้องเอาประกันภัยทรัพย์สินกับจำเลยด้วย สำหรับการคำนวณเบี้ยประกันภัยจะพิจารณาจากประเภทของกรมธรรม์ประกันภัย ความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัย และความเสี่ยงจากลักษณะการประกอบกิจการของผู้เอาประกันภัย และหากเป็นการรับประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักสำหรับกำไรขั้นต้นก็จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกำไรขั้นต้นของผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัย เพื่อประกอบการพิจารณารับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยด้วย เบี้ยประกันภัยที่คำนวณได้จะกำหนดเป็นร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นที่มีการเปิดเผย (Declared Values) ซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละ 2.5 ของจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อปี เมื่อปี 2544 บริษัท ต. เป็นผู้ขอเอาประกันภัยทรัพย์สินและกรณีธุรกิจหยุดชะงักกับจำเลย ซึ่งมีการออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัทดังกล่าวระหว่างปี 2544 ถึงปี 2553 เมื่อปี 2554 จำเลยได้รับหนังสือเชิญจากบริษัทดังกล่าวให้ทำการเสนอราคาสำหรับการประกันภัยซึ่งมีการแสดงมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นของบริษัทดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีการแสดงมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นของโจทก์หรือบริษัทย่อยของโจทก์ เมื่อจำเลยทำการเสนอราคาแล้วบริษัทดังกล่าวส่งหนังสือแจ้งว่าตกลงตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่จำเลยเสนอ โดยที่ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ในเอกสารดังกล่าว จำเลยออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทซึ่งมีการระบุชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียวในตารางกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยแต่เพียงผู้เดียวสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลย ต่อมามีการออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บริษัทดังกล่าวระหว่างปี 2555 ถึงปี 2558 โจทก์ไม่มีความเสี่ยงที่จะเอาประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักในประเทศไทยกับจำเลยเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำเลยไม่สามารถประเมินความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินและธุรกิจของโจทก์ในต่างประเทศได้ และมีนายไดซึเกะ (Mr.Daisuke) ซึ่งเคยเป็นรองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดของจำเลยระหว่างปี 2552 ถึงปี 2558 และเป็นผู้รับหนังสือเชิญให้จำเลยเสนอราคาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมาเบิกความว่า ผู้ที่ประสงค์จะเอาประกันภัยตามหนังสือเชิญดังกล่าวคือบริษัท ต. มิใช่โจทก์หรือบริษัทย่อยของโจทก์ ซึ่งมีการแสดงมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นเฉพาะของบริษัท ต. เท่านั้นเพื่อใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และระบุด้วยว่าจะต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด สาเหตุที่ปรากฏชื่อของโจทก์และบริษัทย่อยของโจทก์ในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทก็เพื่อทำให้คล้ายคลึงกับ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด เป็นการคัดลอกข้อความมาใส่ไว้โดยผิดพลาด ซึ่งความจริงแล้วควรจะต้องแก้ไขให้ระบุว่าบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียว และมีนายอัตทสึชิ (Mr.Atsushi) ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของแผนกกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัท ส. ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนรวมทั้งบริษัท ต. ระหว่างปี 2553 ถึงปี 2555 และเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (Chief Financial Officer หรือ CFO) และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Executive Vice President) ของบริษัท ต. ระหว่างปี 2556 ถึงปี 2559 มาเบิกความว่า บริษัท ต. ชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทในนามของตนเอง และบริษัท ส. ไม่เคยได้รับการร้องขอให้ชำระเบี้ยประกันภัยดังกล่าว และมีนายวิชัย รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส ของจำเลยและเป็นผู้ลงนามในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มาเบิกความว่า เมื่อปี 2552 ถึงปี 2553 เกิดเหตุลูกจ้างของบริษัท ต. นัดหยุดงาน บริษัทดังกล่าวเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีธุรกิจหยุดชะงักจากจำเลย แต่โจทก์ไม่เคยเรียกร้องหรืออ้างว่าเป็นผู้เอาประกันภัย ทั้งที่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีเนื้อหาคล้ายกับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท และในการต่ออายุการประกันภัยแต่ละปีนั้นจำเลยไม่เคยติดต่อโจทก์หรือบริษัทย่อยของโจทก์ หากบริษัท ต. เป็นผู้ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนโจทก์ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์และบริษัทย่อยของโจทก์มิได้เป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เห็นว่า สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น โจทก์อ้างว่าเป็นไปตามเอกสารหมาย จ.1 ส่วนจำเลยอ้างว่าเป็นไปตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งปรากฏว่าเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมีส่วนที่ตรงกันคือ รายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารแผ่นที่ระบุว่าหน้า 1 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นปกของรายละเอียดเงื่อนไขดังกล่าว แผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 ถึงหน้า 4 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นรายละเอียดเงื่อนไขในส่วนที่จำเลยจัดทำขึ้น และแผ่นที่ระบุว่า หน้า 5 ถึงหน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า เป็นรายละเอียดเงื่อนไขในส่วนที่อ้างอิงมาจาก กรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ด แต่เอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวมีส่วนที่แตกต่างกันคือเอกสารหมาย จ.1 แผ่นแรก เป็นปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับ ซึ่งไม่มีตารางกรมธรรม์ประกันภัยแนบมาด้วย ส่วนเอกสารหมาย ล.2 แผ่นแรก เป็นตารางกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งไม่มีปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับติดมาด้วย เมื่อจำเลยรับในคำแก้ฎีกาว่าปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นแรก เป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งเอกสารฉบับดังกล่าวมีข้อความระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มีตารางกรมธรรม์ประกันภัยแนบมาด้วย ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 แผ่นแรกนั้น โจทก์ก็มิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่ากรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับประกอบไปด้วยปกของกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นแรก ตารางกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นแรก ปกของรายละเอียดเงื่อนไขและรายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 แผ่นที่ระบุว่าหน้า 1 ถึงหน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า เมื่อปกของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับเอกสารหมาย จ.1 แผ่นแรก มีข้อความระบุด้วยว่ากรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมถึงตารางกรมธรรม์ประกันภัยนั้นอยู่ภายใต้ข้อกำหนด ข้อยกเว้นและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยหรือที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น ในการพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจึงต้องพิจารณาจากกรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับ แม้ตารางกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.2 แผ่นแรก จะระบุว่าบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย แต่รายละเอียดเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุชื่อผู้เอาประกันภัย (Insured Name) ประกอบไปด้วย บริษัท ต. โจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจึงระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้เอาประกันภัย (Insured Name) หมายถึงบุคคลใด ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจึงมิได้มีเพียงบริษัท ต. เท่านั้นแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า บริษัท ต. เป็นผู้ออกหนังสือเชิญให้จำเลยทำใบเสนอราคาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มิใช่โจทก์นั้น ได้ความตามหนังสือเชิญว่า นางปรียาซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทได้ออกหนังสือเชิญดังกล่าวโดยมีข้อความระบุว่าบริษัท ต. ขอเชิญให้จำเลยทำการเสนอราคาสำหรับจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดที่แนบมาด้วย ซึ่งเอกสารที่แนบดังกล่าวก็ระบุว่าโจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย การออกหนังสือเชิญดังกล่าวจึงเป็นการแสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งแล้วว่ากรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจะต้องให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยด้วย ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โจทก์มิได้เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นซึ่งจำเป็นต่อการพิจารณารับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยนั้น เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยฉบับก่อนเกิดเหตุตั้งแต่ปี 2544 ถึงช่วงเกิดเหตุปี 2554 ถึง 2555 ต่อเนื่องถึงปี 2558 ตามข้อ 3.ที่ระบุจำนวนเงินเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแตกต่างกัน ตั้งแต่ยอดเงิน 4.4 พันล้านบาท ถึง 140.304 พันล้านบาท โดยปี 2554 ซึ่งเป็นปีเกิดเหตุอุทกภัย ระบุจำนวนเงินเอาประกันภัย 71.285 พันล้านบาท จึงเชื่อว่าโจทก์และกลุ่มบริษัทในเครือโจทก์มีการเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นเพื่อแสดงยอดเงินที่จะเอาประกันภัยแล้ว มิฉะนั้นจำเลยจะได้ยอดเงินเอาประกันนับหมื่นล้านบาทในการคำนวณเบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกันแต่ละปีจากแห่งใด ทั้งเมื่อหนังสือเชิญเป็นการแสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่ากรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจะต้องให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยด้วย แม้จะปรากฏหลักฐานว่าจำเลยเคยแจ้งให้ผู้ออกหนังสือเชิญดังกล่าวเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นของโจทก์เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยก่อนตกลงทำสัญญาประกันภัยหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ออกใบเสนอราคาสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เช่นนี้ย่อมต้องถือว่ามูลค่าทรัพย์สินและกำไรขั้นต้นของโจทก์มิใช่ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับจำเลยในการพิจารณาก่อนที่จะรับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท หรือข้อมูลที่ปรากฏตามหนังสือเชิญ เป็นข้อมูลเพียงพอที่จำเลยจะรับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยได้แล้ว ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการคัดลอกข้อความมาจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับทั่วโลกของฟอร์ดโดยผิดพลาด ซึ่งความจริงแล้วควรจะต้องแก้ไขให้ระบุว่าบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัยแต่เพียงผู้เดียวนั้น เมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยที่จำเลยเคยออกให้ในปี 2544 ถึงปี 2553 ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นแล้ว ปรากฏว่ามีการระบุว่าโจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่ามีการปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลานานก่อนที่จำเลยจะออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้ว แม้เอกสารหมาย ล.29 ถึง ล.42 ของจำเลยจะเป็นเพียงตารางหน้ากรมธรรม์แผ่นแรกเพียงแผ่นเดียว แต่จำเลยไม่แสดงถึงเอกสารแนบท้าย (ATTACHED) ใด ๆ ทั้งที่มีการระบุถึงเอกสารแนบท้ายในกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละฉบับ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า มีเอกสารระบุรายละเอียดอื่นอีกมาก มิใช่กรมธรรม์ประกันภัยมีเพียงตารางกรมธรรม์ประกันภัยแผ่นแรกแผ่นเดียว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาประกอบความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจประกันภัยของจำเลยมานานกว่า 95 ปี ตามคำให้การจำเลย ย่อมเป็นการยากที่จะมองว่าเป็นการคัดลอกข้อความมาโดยผิดพลาด ทั้งเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารที่จำเลยเองลงนามยืนยันรับรองข้อความไว้ด้วย เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยมืออาชีพด้านการประกันภัยเช่นจำเลยที่จะจัดพิมพ์สัญญาในส่วนสาระสำคัญผิดพลาด ทั้งเมื่อพิจารณาตามรายชื่อพื้นที่และประเทศต่าง ๆ ของธุรกิจโจทก์ในเงื่อนไขความคุ้มครอง เช่น เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ตุรกี ญี่ปุ่น อิตาลี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา เยอรมนี ซึ่งตามกรมธรรม์พิพาทแผ่นที่ระบุหน้า 5 และ 6 จาก 44 หน้า มีรายละเอียดเหมือนเอกสารใบเสนอรับทำสัญญา และต่างจากใจความในเอกสารเชิญชวนก่อนหน้า แสดงว่ากรมธรรม์ประกันภัยพิพาทผ่านการตรวจสอบคัดกรองถ้อยคำจากจำเลยแล้ว จึงเชื่อว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะทำสัญญาประกันภัยพิพาทให้มีผลผูกพันกันมาแต่แรก ซึ่งมิใช่ให้เฉพาะบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย มิฉะนั้นก็อาจทำสัญญากรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยตามที่ปรากฏในปีหลังเกิดเหตุปี 2556 ถึง 2559 ที่ระบุชื่อผู้เอาประกันภัยอย่างชัดเจนว่าหมายถึงบริษัท ต. เท่านั้น ต่างจากปี 2554 ถึง 2555 ที่เกิดเหตุพิพาทหรือปีก่อนหน้า ทั้งแต่ละปีก็มีเนื้อหารายละเอียดต่างกัน บ่งชี้ว่ามีการเจรจากำหนดเนื้อหาสัญญาระหว่างคู่สัญญา มิใช่ทำแบบสัญญาสำเร็จรูป แต่มีการต่อรองในการบริหารความเสี่ยงซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาคโดยผ่านการตรวจสอบและกำหนดนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งการระบุความเป็นผู้เอาประกันภัย ลูกค้า หรือผู้จัดส่งสินค้า (SUPPLIER) และกำหนดปัจจัยที่สำคัญอื่น เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย ทรัพย์สิน และกิจกรรมที่มีธุรกิจสัมพันธ์กันในฐานการผลิตของโจทก์ในประเทศไทย จึงปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละปีรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับทางนำสืบโจทก์ที่แสดงถึงรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เปรียบเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่นที่ชี้ว่าโจทก์จำเลยเป็นผู้เคยค้ากันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำในปีอื่น และเป็นข้อสนับสนุนถึงเจตนาของโจทก์จำเลยว่าเจตนาจะผูกพันกันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า บริษัท ต. เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยแต่เพียงผู้เดียวสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทนั้น จำเลยระบุในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นแรก ว่าบริษัท ต. เป็นผู้เอาประกันภัย การที่บริษัท ต. ชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่จำเลยจึงมิใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ระบุชัดเจนว่าผู้เอาประกันภัยทั้งหมดประกอบไปด้วยบริษัท ต. โจทก์ บริษัทย่อย และนิติบุคคลอื่น ๆ ซึ่งโจทก์อาจใช้อำนาจควบคุมกิจการได้ ก็ต้องถือว่าผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุไว้ทั้งหมดเป็นคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861 และ 862 และเมื่อได้ความว่าจำเลยได้รับชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์พิพาทจากบริษัท ต. ครบถ้วนแล้ว คู่สัญญาฝ่ายผู้เอาประกันภัยก็ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยอีก ทั้งต้องถือว่าจำเลยได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยทั้งหมดที่มีชื่อระบุไว้แล้ว หาใช่ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจากบริษัท ต. แต่เพียงผู้เดียว ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า หากบริษัท ต. เป็นผู้ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนโจทก์แล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ข้อที่จำเลยนำสืบดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของจำเลยเอง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อความเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ทั้งเป็นเรื่องภายในของฝ่ายผู้เอาประกันภัยด้วยกัน เมื่อจำเลยตกลงรับเบี้ยประกันภัยและได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแล้ว ย่อมมีผลบังคับผูกพันระหว่างจำเลยกับผู้เอาประกันภัยทั้งหมดมีชื่อระบุไว้ ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีธุรกิจหยุดชะงักจากกรณีลูกจ้างของบริษัท ต. นัดหยุดงานเมื่อปี 2552 ถึงปี 2553 ในฐานะผู้เอาประกันภัยนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าบริษัท ต. เท่านั้นที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โจทก์ไม่มีความเสี่ยงที่จะเอาประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักเนื่องจากไม่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และที่จำเลยอ้างในคำแก้ฎีกาว่า ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเป็นทรัพย์สินของบริษัท ต. ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดนั้น ได้ความตามที่พยานโจทก์ปากนายเดเนียล (Mr.Daniel) เบิกความโดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นประการอื่นว่า โจทก์ประกอบธุรกิจทั่วโลก และในข้อที่จำเลยอ้างเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยทั้ง 4 แห่ง ตามที่ระบุไว้ในแผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ก็เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองต่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักและภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องซึ่งมีการระบุไว้ในแผ่นที่ระบุว่าหน้า 7 จากทั้งหมด 44 หน้า ว่ามีอาณาเขตความคุ้มครองทั่วโลกเว้นแต่ต้องด้วยข้อยกเว้นบางประการเท่านั้น ส่วนที่จำเลยอ้างอีกว่า ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2558 ของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในฐานะนายทะเบียน กำหนดนิยามคำว่า ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 16/2555 ของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในฐานะนายทะเบียน กำหนดนิยามคำว่า ผู้เอาประกันภัย หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลตามที่ปรากฏชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยในตารางกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยนั้น คำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ส่วนคำสั่งนายทะเบียนที่ 16/2555 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ซึ่งล้วนเป็นเวลาภายหลังจากที่กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทได้เริ่มต้นความคุ้มครองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2554 แล้ว และมิได้มีการระบุให้คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวมีผลใช้บังคับย้อนหลังด้วยหรือมีบทบังคับว่าหากมีการชำระเบี้ยประกันภัยแทนกันจะมีผลเช่นไร ทั้งพยานจำเลยปากนางรัตนาก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้งฉบับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยแล้ว ข้อที่จำเลยอ้างในคำแก้ฎีกาดังกล่าวจึงหาได้มีผลกระทบต่อความเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท นอกจากนี้พยานจำเลยปากนางสาวพัฒนาพร ซึ่งจำเลยนำเข้าเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันภัย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า หากหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยไม่สามารถระบุชื่อผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วน ก็สามารถระบุชื่อผู้เอาประกันภัยเพิ่มเติมในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยได้ และพยานจำเลยปากนายวิชัย ซึ่งจำเลยนำเข้าเบิกความในฐานะเป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยและเป็นผู้ลงนามในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า การแก้ไขกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทสามารถกระทำได้โดยทำเป็นใบสลักหลัง เมื่อพิจารณาประกอบกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ที่ระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีเอกสารแนบท้าย "COVERAGE,CONDITIONS,CLAUSES : AS LIST ATTACHED" และแผ่นที่ระบุว่าหน้า 3 จากทั้งหมด 44 หน้า ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยระบุยอมรับเนื้อหาของกรมธรรม์โดยมีลายมือชื่อผู้แทนจำเลยพร้อมประทับตราบริษัทจำเลยกำกับ ซึ่งเท่ากับจำเลยรับรองชื่อผู้เอาประกัน (Insured Name) ให้รวมถึงบริษัทโจทก์ด้วย ดังนี้ เมื่อมีการระบุชื่อบุคคลใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้ในเอกสารแนบท้ายดังกล่าวแล้วก็ต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งมีสถานะเต็มเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัยด้วย และเมื่อถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทระบุไว้อย่างชัดเจนซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้แล้ว ประกอบกับพฤติการณ์ในการทำสัญญาประกันภัยดังที่พิจารณามา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัย ส่วนฎีกาของโจทก์ประการอื่นในข้อนี้เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้อ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท เพราะเป็นสิทธิของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์นั้น เห็นว่า แม้กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการระบุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกก็ตาม แต่สิทธิของผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนี้ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้วจะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาทันที และตราบใดที่ผู้รับประโยชน์ยังมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยตามปกติ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ากรมธรรม์ประกันภัยพิพาทมีการกำหนดวงเงินความคุ้มครองไว้ 100,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องหักความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทให้แก่บริษัท ต. แล้ว โดยนำเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย รวม 57,964,961 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองแล้วยังเหลือวงเงินความคุ้มครอง 41,035,039 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ปรากฏว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทได้แสดงเจตนาแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาสำหรับวงเงินความคุ้มครองส่วนที่เหลือ เช่นนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงยังคงมีหน้าที่ต้อง ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัยพิพาทโดยให้ความคุ้มครองแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับวงเงินความคุ้มครองส่วนที่ยังเหลือนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเพียง 41,021,240.94 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังอยู่ในวงเงินความคุ้มครองส่วนที่เหลือ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท ข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นข้อพิพาทอื่นซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยนั้น เมื่อคดีได้มีการสืบพยานของคู่ความในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นมาทุกประเด็นพิพาทแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า โจทก์มีส่วนได้เสียในกรณีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิได้ซื้อสินค้าจากบริษัท ต. หรือผู้จัดส่งสินค้าของบริษัท ต. จึงมิได้ประสบกับภาวะธุรกิจหยุดชะงักอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 นั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่าหน้า 2 จากทั้งหมด 44 หน้า ในส่วนที่กล่าวถึงภัยที่ได้รับความคุ้มครอง (Perils Insured) ระบุว่ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ครอบคลุมถึงทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้และภาวะธุรกิจหยุดชะงักเมื่อเกิดการสูญหายหรือเสียหายทางกายภาพ (Physical loss or damage) ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักนี้ยังรวมไปถึงความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องด้วย โดยจะเห็นได้จากกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่าหน้า 6 จากทั้งหมด 44 หน้า มีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งความคุ้มครองนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้นถัดลงไป (No coverage beyond Tier Two Suppliers) และแผ่นที่ระบุว่าหน้า 25 และ 27 จากทั้งหมด 44 หน้า ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงัก ได้แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ แบบฟอร์ม ก. (Form A) คำนวณจากการสูญเสียกำไร (Loss of Profits) และแบบฟอร์ม ข. (Form B) คำนวณจากกำไรขั้นต้น (Gross Earnings) ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความคุ้มครองต่อการสูญเสีย อันเป็นผลโดยตรงมาจากการหยุดชะงักของธุรกิจที่จำเป็นซึ่งเกิดจากการสูญเสีย ความเสียหาย หรือการถูกทำลายของทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ทรัพย์สินของบุคคลอื่น ทรัพย์สินของผู้จัดส่งสินค้า ทรัพย์สินของลูกค้า ทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง การปลูกสร้าง หรือการก่อสร้าง ในส่วนนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามสัญญาร่วมทุนระหว่างโจทก์และบริษัท ส. โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายลงทุนฝ่ายละเท่า ๆ กัน และยังได้ความตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ บริษัท ส. และบริษัท ต. มีข้อตกลงว่าบริษัท ต. จะขายรถยนต์ที่ผลิตได้ให้แก่โจทก์ บริษัท ส. หรือนิติบุคคลอื่นใดที่โจทก์หรือบริษัท ส. กำหนดขึ้น และคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทอันสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนตุลาคม 2554 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย บริษัท อ. ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวโดยไม่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องจากจำเลย จึงเป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งอยู่ในวงจรที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนกลายเป็นสินค้าสำเร็จ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อที่โจทก์จะได้นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าต่อไป อันเป็นวงจรของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) หากเกิดความเสียหายแก่การดำเนินธุรกิจของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 ซึ่งเป็นผู้เคลื่อนย้ายวัตถุดิบและวัสดุอื่น ๆ เข้าสู่กระบวนการผลิต หรือของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าสำเร็จที่ต้องเกิดภาวะหยุดชะงักก็ย่อมจะส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการไม่มีรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศด้วย โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงมีความสัมพันธ์กับกิจการอันเป็นทรัพย์สินของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ดังกล่าว และหากเกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักแก่กิจการของผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ดังกล่าวแล้ว ก็อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่อง ซึ่งสามารถประมาณเป็นเงินได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในกรณีความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทตามฟ้องโจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องตามความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิได้ซื้อสินค้าจากบริษัท ต. โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทย่อยเท่านั้น ธุรกิจของโจทก์มิได้หยุดชะงักเพราะเหตุที่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์อันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 นั้น เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทแผ่นที่ระบุว่าหน้า 6 จากทั้งหมด 44 หน้า มีเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ว่าความคุ้มครองนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่มีสาเหตุมาจากผู้จัดส่งสินค้าชั้นถัดลงไป และแผ่นที่ระบุว่าหน้า 44 จากทั้งหมด 44 หน้า กำหนดนิยามของคำว่า "ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1" (Tier One Supplier) ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าซึ่งจัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่โรงงานหรือสถานประกอบการของฟอร์ด (Ford Facility) กับกำหนดนิยามของคำว่า "ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2" (Tier Two Supplier) ว่าหมายถึงผู้จัดส่งสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่ผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 ซึ่งในข้อนี้โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้จัดส่งสินค้าโดยตรงให้แก่บริษัท ต. ไม่สามารถผลิตและจัดส่งสินค้าวัสดุอุปกรณ์จนทำให้บริษัท ต. ไม่อาจผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท ต. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 2 และในข้อนี้เองพยานโจทก์ปากนายเดเนียล เบิกความว่า การประกอบธุรกิจของโจทก์ในทวีปเอเชียนั้นจะกระทำผ่านบริษัท ด. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. เพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทย และบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ประกอบกับสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารของโจทก์เอง มีข้อตกลงว่าบริษัท ต. จะขายรถยนต์ที่ผลิตได้ให้แก่ผู้ซื้อ โดยมีการกำหนดนิยามของคำว่า "ผู้ซื้อ" ว่าหมายถึงโจทก์ บริษัท ส. หรือนิติบุคคลอื่นใดที่โจทก์หรือบริษัท ส. กำหนดขึ้น ซึ่งเอกสารแนบท้าย 3.1 (Exhibit 3.1) ระบุว่านิติบุคคลที่โจทก์กำหนดว่าเป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายในประเทศไทยคือบริษัท ด. และนิติบุคคลที่โจทก์กำหนดว่าเป็นผู้ซื้อรถยนต์สำหรับจำหน่ายนอกประเทศไทยคือบริษัท ท. สอดคล้องกับที่พยานโจทก์ปากนายโจเซฟ หรือโจ (Mr.Joseph or Joe) หัวหน้าฝ่ายจัดการค่าสินไหมทดแทนการประกันภัยและหุ้นส่วนสำนักงานบัญชี พ. ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัท ต. ให้คำนวณค่าสินไหมทดแทนจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ด้วยวิธีการบัญชีนิติวิทยา (Forensic Accounting) เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า บริษัท ต. จะนำรถยนต์ที่ผลิตได้ไปจำหน่ายให้แก่บริษัท ด. และบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทที่ใช้ชื่อว่า ร. นั้น พยานโจทก์ปากนายจอห์นนี่หรือจอห์น เบิกความว่า หมายถึงบริษัท ท. ทั้งอุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้รับซื้อรถยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ต. ไว้เช่นนี้ และยังบรรยายอีกว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. และบริษัท ท. โดยผ่านการถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แม้พยานโจทก์ปากนางปรียาจะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า บริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ด. ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นนั้น ล้วนเป็นบรรดาบริษัทที่โจทก์เป็นเจ้าของ และแม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ท. รวมทั้งบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ด. ในลักษณะใดจริงหรือไม่ ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ซื้อรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประกอบสำเร็จหรือรถยนต์แบบผลิตเป็นชิ้นส่วนตลอดจนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ซึ่งผลิตโดยบริษัท ต. คือ บริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่โจทก์ ต้องถือว่าบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ ของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงวิธีการคำนวณค่าสินไหมทดแทนกรณีภาวะธุรกิจหยุดชะงักตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท แผ่นที่ระบุว่าหน้า 25 และ 27 จากทั้งหมด 44 หน้า หากใช้วิธีคำนวณจากการสูญเสียกำไร (Form A: Loss of Profits) โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาจาก การลดลงของยอดขาย (Reduction in Sales) ซึ่งหมายถึงยอดขายที่ลดลงของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์ หรือหากใช้วิธีคำนวณจากกำไรขั้นต้น (Form B : Gross Earnings) โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาจาก ยอดขายรวมสุทธิ (Total Net Sales) หักด้วยต้นทุนขายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งหมายถึงยอดขายและต้นทุนขายของบริษัท ด. และบริษัท ท. มิใช่ของโจทก์เช่นกัน และเมื่อบริษัท ด. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1015 และเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโจทก์จะอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ด. โดยผ่านการถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลยสำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของบริษัท ด. หากจะพึงมี ก็มิใช่ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ และในทำนองเดียวกันในส่วนของบริษัท ท. นั้น ได้ความว่าเป็นกิจการที่ตั้งอยู่ในมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงอักษรย่อ LLC ที่ต่อท้ายชื่อของกิจการแล้ว น่าเชื่อว่าเป็นกิจการประเภทบริษัทจำกัดความรับผิด (Limited Liability Company) ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก (Separate Legal Entity) จากผู้ลงทุน (Member) ในบริษัทประเภทนี้ และเป็นคนละนิติบุคคลกับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าโจทก์จะอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท ท. โดยผ่านการลงทุนในกิจการเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของผู้ลงทุนทั้งหมด (Membership Interest) ด้วยอาศัยวิธีการใดก็ตาม ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทจากจำเลยสำหรับกรณีที่เกิดภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของบริษัท ท. หากจะพึงมีก็มิใช่ความเสียหายและสิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นกัน ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องสำหรับกรณีตามคำฟ้องเพราะโจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาและต้องจัดทำงบการเงินโดยใช้หลักเกณฑ์ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกา (Generally Accepted Accounting Principles ซึ่งเรียกโดยย่อว่า GAAP หรือ US GAAP) เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัทย่อยเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของส่วนของเจ้าของทั้งหมด ก็จะต้องแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของโจทก์และความเสียหายของบริษัทย่อยก็จะถูกนำมารวมอยู่ในงบการเงินของโจทก์นั้น แม้จะฟังว่ามีการจัดทำงบการเงินของโจทก์โดยแสดงผลการดำเนินงานและความเสียหายของบริษัทย่อยไว้ด้วยตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กิจการของโจทก์ บริษัท ด. และบริษัท ท. ก็ยังคงมีการดำเนินกิจการในฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและกัน และย่อมมีการจัดทำงบการเงินของแต่ละกิจการไว้ต่างหากจากกันตามกฎหมาย การจัดทำงบการเงินของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการจัดทำรายงานทางการเงินเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ บริษัท ด. และบริษัท ท. เป็นกิจการเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการแสดงฐานะของกลุ่มบริษัท (Group Company) ในเครือเดียวกันต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ก็หาได้มีผลทำให้โจทก์ บริษัท ด. และบริษัท ท. ควบเข้ากันเป็นนิติบุคคลเดียวกันในทางกฎหมาย นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีในศาลโดยใช้สิทธิเรียกร้องแทนกันและกันได้แต่อย่างใด ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยจึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องของโจทก์จากการที่มีบริษัท ต. และบริษัท อ. เป็นผู้จัดส่งสินค้าชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อย (Holding Company) แทนบริษัท ด. และบริษัท ท. ในความเสียหายจากภาวะธุรกิจหยุดชะงักต่อเนื่องได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทผูกพันโจทก์จำเลยตามคำฟ้อง ข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ