โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1461 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 3784 ให้กลับคืนกองมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 โดยปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเอกสารสิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ เพื่อนำไปแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 ก่อนจึงดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนของเจ้ามรดกที่ 2 แก่ทายาทต่อไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ ให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดก 1,783,741.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2219, 2981 และ 2598 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้กลับคืนกองมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 โดยปลอดจำนอง หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเอกสารสิทธิดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้จำเลยที่ 2 ชำระราคาตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดก 4,833,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1461 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 ใน 12 ส่วน แล้วจดทะเบียนโอนกลับสู่กองมรดกของนายณรงค์ศักดิ์ เจ้ามรดกที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว จำนวน 5 ใน 12 ส่วน ให้แก่ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ซึ่งได้แก่ โจทก์กับนายธาตรี สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2219, 2981 และ 2598 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แปลงละ 5 ใน 12 ส่วน กลับสู่กองมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินแต่ละแปลง จำนวน 5 ใน 12 ส่วน ให้แก่ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ซึ่งได้แก่ โจทก์กับนายธาตรี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 นำไปแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1461 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 7 ส่วน ใน 12 ส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 2 ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 2 โดยปลอดจำนอง ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า "ให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1461 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 ใน 12 ส่วน แล้วจดทะเบียนโอนกลับสู่กองมรดกของนายณรงค์ศักดิ์ เจ้ามรดกที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าว จำนวน 5 ใน 12 ส่วน ให้แก่ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ซึ่งได้แก่ โจทก์กับนายธาตรี สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2219, 2981 และ 2598 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แปลงละ 5 ใน 12 ส่วน กลับสู่กองมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินแต่ละแปลง จำนวน 5 ใน 12 ส่วน ให้แก่ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ซึ่งได้แก่ โจทก์กับนายธาตรี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 นำไปแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1" ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และนายธาตรี เป็นผู้จัดการมรดกของนายณรงค์ เจ้ามรดกที่ 1 และโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพิสมัยหรือพิศมัย เจ้ามรดกที่ 2 ภายหลังเจ้ามรดกที่ 1 ถึงแก่ความตายทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 ได้ทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 บัญญัติว่า ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เรียกทรัพย์จากจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 1 เพื่อทำการแบ่งปันให้แก่ทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีร่วมกับนายธาตรีผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง แต่โจทก์ฟ้องคดีแต่ผู้เดียว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งปันมรดกในฐานะทายาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่าจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสิทธิที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงของบรรดาทายาทของเจ้ามรดกที่ 1 แบ่งปันมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 จึงเห็นได้ว่าโจทก์ขอแบ่งปันมรดกในฐานะทายาทด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในฐานะทายาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น จึงเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองเพียงใด เห็นสมควรวินิจฉัยมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ก่อน ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า ภายหลังเจ้ามรดกที่ 1 ถึงแก่ความตายบรรดาทายาททุกคนของเจ้ามรดกที่ 1 รวมทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองด้วย ได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกของเจ้ามรดกที่ 1 ทายาททุกคนที่ร่วมทำบันทึกดังกล่าวรวมทั้งจำเลยทั้งสองต้องผูกพันตามบันทึกนั้นซึ่งตามบันทึกโจทก์ได้ส่วนแบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2219, 2981, 2598 จำนวน 1.5 ส่วน ใน 12 ส่วน และได้รับส่วนแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 1461 จำนวน 3 ส่วน ใน 12 ส่วน เมื่อที่ดินดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง จำเลยทั้งสองจึงต้องจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์ได้รับตามบันทึกข้อตกลง ที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่าคดีโจทก์ในส่วนนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาแบ่งปันมรดกไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ ส่วนในข้อที่โจทก์ขอแบ่งปันมรดกของเจ้ามรดกที่ 2 นั้น เห็นว่า เมื่อเจ้ามรดกที่ 1 ถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกที่ 2 โจทก์ จำเลยทั้งสองและทายาทคนอื่น ๆ ของเจ้ามรดกที่ 1 ได้ทำบันทึกตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 1 กันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 หลังจากนั้นวันที่ 2 สิงหาคม 2549 เจ้ามรดกที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินคือโฉนดเลขที่ 2219, 2981 และ 2598 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยในสารบัญจดทะเบียนระบุประเภทการจดทะเบียนว่าให้ จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวในส่วนของเจ้ามรดกที่ 2 ที่โจทก์อ้างว่าเจ้ามรดกที่ 2 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนนั้น โจทก์มีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เจ้ามรดกที่ 2 บอกว่าให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทน และมีนายวิษณุ เบิกความว่าได้สอบถามเจ้ามรดกที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเจ้ามรดกที่ 2 บอกว่าให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทน พยานทั้งสองล้วนเป็นพยานบอกเล่า ห้ามมิให้ศาลรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้ามรดกที่ 2 ได้ยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2219, 2981, 2598 ในส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ก่อนตาย ที่ดินส่วนดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ 2 ในอันที่โจทก์จะมีอำนาจจัดการหรือขอแบ่งปันได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนเป็นผลให้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1461 ให้แก่โจทก์ 3 ส่วน ใน 12 ส่วน โดยปลอดจำนองหากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคา 438,750 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2219, 2981, 2598 แปลงละ 1.5 ส่วน ใน 12 ส่วน ให้แก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้ใช้ราคา 2,500,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองชำระพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ธันวาคม 2559) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ทั้งนี้สำหรับดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4