โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล วันที่ 8 ตุลาคม 2546 สหภาพแรงงานอเบโนการพิมพ์ 1998 แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง วันที่ 24 ตุลาคม 2546 จำเลยร้องขอเลิกจ้างโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง วันที่ 24 ธันวาคม 2546 จำเลยขอถอนคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ ศาลแรงงานกลางอนุญาต วันที่ 26 ธันวาคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลย ขอให้พิพากษาว่าหนังสือเลิกจ้างฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2546 เป็นโมฆะและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง ค่าจ้างและสภาพการจ้างเดิม ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างอัตราสุดท้ายแก่โจทก์เดือนละ 80,000 บาท ตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2547 ไปจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทุก 7 วัน จากต้นเงินค่าจ้างของแต่ละเดือน นับแต่เดือนมกราคม 2547 ไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในการจ้าง ให้บำเหน็จและลงโทษลูกจ้างของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน โจทก์เป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 สหภาพแรงงานอเบโนการพิมพ์ 1998 แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์การประชุมระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้าง โจทก์อยู่ในระยะเวลาทดลองงาน 119 วัน จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์แล้วไม่เป็นที่พอใจ โจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล มีหน้าที่สัมภาษณ์ลูกจ้าง สอบสวนลงโทษลูกจ้าง ดูแลความเรียบร้อย ฝึกอบรมลูกจ้าง ดูแลพนักงานขับรถยนต์ มีอำนาจออกหนังสือเตือนลูกจ้างที่กระทำความผิด โจทก์ทำงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนางนฤมล ไหลงาม ผู้จัดการฝ่ายบริหาร และนายเซนอิจิ มายด้า ประธานกรรมการจำเลย ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด วันที่ 8 ตุลาคม 2546 สหภาพแรงงานอเบโนการพิมพ์ 1998 แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง วันที่ 13 ตุลาคม 2546 โจทก์เข้าประชุมคณะกรรมการลูกจ้างในฐานะผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ปรากฏตามบันทึกการประชุมคณะกรรมการลูกจ้างเอกสารหมาย ล.5 วันที่ 24 ตุลาคม 2546 จำเลยยื่นคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง วันที่ 26 ธันวาคม 2546 จำเลยขอถอนคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ ในวันเดียวกันจำเลยเลิกจ้างโจทก์ วันที่ 17 มกราคม 2547 ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยถอนคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือกรรมการและไม่ได้ถือหุ้นบริษัทเลย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่มีข้อห้ามผู้จัดการฝ่ายบุคคลเป็นกรรมการลูกจ้าง การปฏิบัติงานของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้จัดการทั่วไปและกรรมการผู้จัดการอีกชั้นหนึ่ง ฐานะที่แท้จริงของโจทก์เป็นลูกจ้างไม่ใช่นายจ้าง เมื่อสหภาพแรงงานอเบโนการพิมพ์ 1998 แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างโดยชอบ จำเลยต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนจึงจะเลิกจ้างโจทก์ได้ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นคำสั่งที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ เมื่อไม่จ่ายจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควรจึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล จ่ายค่าจ้างค้างชำระเดือนละ 80,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2547 จนกว่าจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามปกติ และชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างที่ค้างชำระนับแต่วันถึงกำหนดชำระแต่ละเดือนจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการแทนจำเลยตามความหมายของคำว่า "นายจ้าง" ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 หรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย มีหน้าที่สอบสวนลงโทษลูกจ้าง มีอำนาจออกหนังสือเตือนลูกจ้างที่กระทำความผิด อันเป็นอำนาจหน้าที่ในการลงโทษลูกจ้างของจำเลย อีกทั้งปรากฏตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.4 ที่โจทก์เบิกความยอมรับว่าโจทก์ลงนามแทนจำเลย และคู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทำสัญญาจ้างลูกจ้างเข้าทำงานกับจำเลยแทนจำเลยอันเป็นอำนาจหน้าที่ในการจ้างลูกจ้างของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการลงโทษและจ้างลูกจ้างของจำเลยแทนจำเลย โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างตามมาตรา 5 แม้ว่าโจทก์จะเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ฐานะนายจ้างและลูกจ้างนั้นมีผลประโยชน์บางส่วนที่ขัดกัน การที่สหภาพแรงงานอเบโนการพิมพ์ 1998 แต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างกับคณะกรรมการลูกจ้างตามมาตรา 50 ที่บัญญัติให้นายจ้างต้องจัดให้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการลูกจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง กำหนดข้อบังคับในการทำงาน พิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง หาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ ร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าการกระทำของนายจ้างจะทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร การแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างและไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 จำเลยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างโจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่าจำเลยจะต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาแน่นอนที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง