โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 1,680,000 บาท ดอกเบี้ยปีแรกอัตราร้อยละ 12.95 ต่อปีตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยยอมให้โจทก์ขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดกำหนดชำระเงินคืนให้โจทก์ทุกวันที่ 14 ของเดือนเริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดใดยอมเสียเบี้ยปรับให้โจทก์อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จากจำนวนเงินตามงวดที่ผิดนัด ทั้งนี้จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่172590 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีต่อไป เป็นประกันหนี้ดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามที่โจทก์กำหนด หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้ได้จนครบถ้วนนอกจากนี้จำเลยได้ทำประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์อีกด้วยส่วนเบี้ยประกันหากจำเลยไม่ชำระโจทก์มีสิทธิที่จะเข้าชำระแทนแล้วจำเลยยอมให้โจทก์นำมาสมทบเป็นเงินค้างชำระหนี้โจทก์ หลังจากทำสัญญากู้กันแล้ว จำเลยชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญากู้หลายงวด ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่6 มิถุนายน 2540 แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระให้โจทก์อีกเลยโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยเป็นหนี้โจทก์รวมเงินต้น ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ เบี้ยปรับ และเบี้ยประกันที่โจทก์เป็นผู้ชำระแทนแล้วเป็นเงินรวม 1,866,228.53 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปีในต้นเงิน 1,665,999.84 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,866,228.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ในต้นเงิน 1,665,999.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 172590 เลขที่ดิน 5504 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,712,348.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 1,663,472.84 บาทนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 172590 ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนงจังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่สัญญากู้กำหนดให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ในภายหลัง แต่ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บได้เป็นเบี้ยปรับตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่าเบี้ยปรับนั้นเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่ลูกหนี้ตกลงไว้ล่วงหน้ายอมชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่เจ้าหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญา แต่ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.4ข้อ 2 ที่กำหนดว่า "ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนดังนี้ ปีแรก อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.95 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE) ในอัตราร้อยละHLR-0.5 ต่อปี (ซึ่ง ณ วันทำสัญญาอัตราดอกเบี้ย HLR-14.0 ต่อปี)แต่อย่างไรก็ดี หากธนาคารจะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่ากฎหมายอนุญาตให้คิดได้ ผู้กู้ตกลงให้ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ โดยให้ถือว่า ผู้กู้ได้ทราบและให้ความยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วโดยไม่โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น" ซึ่งตามสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมายจ.6 ข้อ 1 ก็กำหนดให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ในทำนองเดียวกันนั้น เป็นกรณีที่จำเลยให้สิทธิแก่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในวันทำสัญญาให้สูงขึ้นอีกได้ไม่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โดยให้โจทก์มีสิทธิกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้เองซึ่งโจทก์ก็ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่แล้ว ตามประกาศเรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากจำเลยให้สูงขึ้นได้แต่ไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดที่โจทก์ได้รับอนุญาตและการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นดังกล่าวเป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379และ 383 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาได้ความว่า จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ให้โจทก์ทุกเดือนตามสัญญาเรื่อยมาโดยชำระครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่6 มิถุนายน 2540 แล้วก็ผิดนัดจนโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยดำเนินการชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมายจ.8 และหนังสือดังกล่าวไปถึงจำเลยแล้วเมื่อวันที่18 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.9 ดังนี้ ย่อมแสดงว่าสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นอันสิ้นสุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมีอยู่ก่อนวันที่สัญญากู้สิ้นสุดเท่านั้น ซึ่งก่อนวันดังกล่าวโจทก์มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ ลงวันที่13 กรกฎาคม 2538 เอกสารหมาย จ.13 ส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ24 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 ตามที่โจทก์อุทธรณ์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณเอาโดยอาศัยตามประกาศเรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ ลงวันที่4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นประกาศของโจทก์หลังจากที่สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.4 ได้สิ้นสุดไปแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี จากจำเลยโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญากู้ฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน