โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครอง ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 และห้ามจำเลยนำหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวไปกล่าวอ้างแก่บุคคลภายนอก
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากค่าขึ้นศาลที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า
ข้อ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นางสาวนิชชานันท์ ภริยาของโจทก์ ฝ่ายหนึ่ง ได้เจรจากับนายพิสูจน์ และจำเลย อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมลงทุนทำรีสอร์ทในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ที่เกาะง่าม ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง กับได้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ขาย และจำเลยในฐานะผู้ซื้อ มีข้อตกลงว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยในราคา 25,000,000 บาท มีการชำระในวันทำสัญญาและวันอื่น ๆ อีก 4 งวด งวดละ 5,000,000 บาท โจทก์ตกลงสละสิทธิครอบครอง และส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่จำเลยในวันทำสัญญา ทั้งโจทก์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญา โดยนางสาวนิชชานันท์ได้นำสัญญาซื้อขายมาให้โจทก์ลงชื่อในภายหลัง และนางสาวนิชชานันท์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะพยาน
ข้อ 2 ในวันเดียวกันจำเลยและนางสาวนิชชานันท์ได้ทำสัญญาหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายตกลงเข้าหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อร่วมกันซื้อสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทในข้อ 1 โดยจำเลยมีหน้าที่เข้าทำสัญญาซื้อสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทกับโจทก์แทนนางสาวนิชชานันท์ และนางสาวนิชชานันท์มีหน้าที่นำเงิน 25,000,000 บาท ชำระให้แก่โจทก์
ข้อ 3 ในการทำสัญญาในข้อ 1 และข้อ 2 นางสาวนิชชานันท์กับนายพิศูจน์และจำเลยได้ตกลงให้ลงวันที่ทำสัญญาวันเดียวกัน และให้ย้อนหลังเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2553
ข้อ 4 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะช้าง ได้ประกาศอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เรื่องห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ ครอบครองที่ดิน หรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง บริเวณเกาะง่าม ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2559 จำเลยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่ออุทธรณ์คำสั่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างดังกล่าว และวันที่ 22 เมษายน 2559 จำเลยได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อุทธรณ์คำสั่งอีกครั้งหนึ่ง
ข้อ 5 วันที่ 30 พฤษภาคม 2559 จำเลยได้ยื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยอง ขอให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างยกเลิกประกาศอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ในข้อ 4 ข้างต้น และให้รื้อถอนประกาศดังกล่าวออกไปจากที่ดินพิพาทของจำเลย กับห้ามให้เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองของจำเลย โดยจำเลยอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ในราคา 25,000,000 บาท และศาลปกครองระยองได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ให้รับคำฟ้องของจำเลยไว้พิจารณา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยจะมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้เมื่อคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมีผลกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะ เสียเปล่าไม่มีผลใช้บังคับ ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว ย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิตามข้ออ้างของจำเลยที่ว่า จำเลยมีสิทธิในที่ดินตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีและพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีผลผูกพัน เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาทหรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยก่อน เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ทำรีสอร์ทบนเกาะง่าม ในที่ดินตามหนังสือสิทธิครอบครอง (สค1) เลขที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ของโจทก์ โดยจำเลยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างบ้านพักและนำผลกำไรมาแบ่งกันคนละครึ่ง จำเลยให้โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันการทำธุรกิจร่วมกันแต่ในการทำสัญญาขายที่ดิน โจทก์ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลย และจำเลยก็ไม่ได้ชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้เข้าไปลงทุนก่อสร้างรีสอร์ทตามที่ตกลงกันไว้ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน และห้ามจำเลยนำหนังสือสัญญาดังกล่าวไปกล่าวอ้างแก่บุคคลภายนอก ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาหุ้นส่วนทำรีสอร์ท จำเลยยังไม่สามารถก่อสร้างรีสอร์ทในที่ดินเนื่องจากมีข้อพิพาทในเรื่องที่จำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองระยอง จำเลยได้ทำสัญญาหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับนางสาวนิชชานันท์ เพื่อร่วมกันซื้อสิทธิครอบครองที่ดินจากโจทก์ ในสัญญาหุ้นส่วนจำเลยมีหน้าที่เข้าทำสัญญาซื้อที่ดินกับโจทก์ นางสาวนิชชานันท์เป็นผู้ชำระค่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายที่ดินและส่งมอบการครอบครอง เมื่อจำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์ ถือว่าจำเลยทำตามสัญญาหุ้นส่วนแล้ว การที่จำเลยนำเอาสัญญาซื้อขายที่ดินไปยื่นต่อศาลปกครองระยอง โดยระบุว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและได้กรรมสิทธิ์ที่ดินจากการซื้อจากโจทก์ จำเลยกระทำไปโดยเจตนาสุจริตเพื่อปกป้องสิทธิของจำเลย จำเลยมีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะโต้แย้งประกาศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ดังนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครอง จึงจำเป็นต้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและห้ามจำเลยนำสัญญาซื้อขายดังกล่าวไปกล่าวอ้างแก่บุคคลภายนอก ส่วนจำเลยอ้างสิทธิในที่ดินตามหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าว คดีจึงมีปัญหาว่าสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย มีผลผูกพันหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นนี้ จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน เนื่องจากนางสาวนิชชานันท์กับจำเลยร่วมกันลงทุนทำรีสอร์ทในที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าว การที่จำเลยนำเอาสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทไปยื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างคดีต่อศาลปกครองระยองเป็นการปฏิบัติตามสัญญาข้อ 3 ที่ระบุว่า หากมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐมารอนสิทธิหรือโต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองในที่ดิน ให้จำเลยดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมาย และการทำสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ระบุย้อนหลังเป็นปี 2553 เป็นเพียงการประสงค์ให้มีผลย้อนหลัง สัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลย กรณีไม่อาจรับฟังพยานบุคคลแก้ไขข้อความในสัญญานั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายว่าไม่มีผลผูกพันจึงไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลย และไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คดีนี้โจทก์นำสืบว่าเหตุที่ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นางสาวนิชชานันท์ ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของโจทก์ตกลงกับนายพิศูจน์ ร่วมลงทุนทำรีสอร์ทในที่ดินของโจทก์ที่เกาะง่าม โดยนายพิศูจน์เป็นผู้บริหารงานและแบ่งผลกำไรคนละครึ่ง จึงมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวและนายพิศูจน์ให้จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากับโจทก์ โดยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริง ส่วนจำเลยนำสืบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2559 จำเลยกับนางสาวนิชชานันท์ภริยาโจทก์ร่วมกันลงทุนทำรีสอร์ทในที่ดินของโจทก์ที่เกาะง่าม จำเลยได้ทำสัญญาหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกับนางสาวนิชชานันท์ เพื่อเป็นหลักฐานการร่วมลงทุน และตกลงให้นางสาวนิชชานันท์ลงทุนโดยใช้ที่ดินของโจทก์และเป็นผู้ชำระค่าที่ดินแก่โจทก์ โดยจำเลยลงทุนสร้างรีสอร์ทและมีหน้าที่เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินกับโจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์และจำเลยจะนำสืบถึงเหตุที่ทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินว่า เนื่องจากการร่วมลงทุนทำรีสอร์ท แต่โจทก์ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกาะช้างนำป้ายไปปักขับไล่ให้โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเนื่องจากโจทก์แพ้คดี ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังจากโจทก์มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์แพ้คดี ส่วนจำเลยก็เบิกความรับว่า ทำสัญญาเมื่อปี 2559 แต่ระบุย้อนหลังเป็นปี 2553 โดยขณะนั้นโจทก์มีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกทั้งเบิกความด้วยว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์เพื่อนำสัญญาไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองระยอง และหลังทำสัญญาจำเลยได้ยื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยอง ดังนี้ คำเบิกความของโจทก์และจำเลยว่า เป็นการร่วมลงทุนทำรีสอร์ทจึงไม่น่าเชื่อถือ พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ทำสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ระบุย้อนหลังเป็นปี 2553 และเป็นการทำสัญญาหลังจากโจทก์มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างนำป้ายไปปักขับไล่ให้โจทก์ออกจากที่ดินเนื่องจากโจทก์แพ้คดี อีกทั้งเป็นการทำสัญญาซื้อขายที่ดินมีราคามากถึง 25,000,000 บาท แต่กลับปรากฏว่าไม่มีการชำระเงินและมีข้อสัญญาว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐมารอนสิทธิหรือโต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองในที่ดิน ให้จำเลยดำเนินการใช้สิทธิตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า หลังจากโจทก์แพ้คดีดังกล่าว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเป็นผู้ดูแลที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยร่วมลงทุนกันสร้างรีสอร์ทและฟังไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เชื่อว่าเป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อให้จำเลยนำไปฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยองตามที่จำเลยเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้าน ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาซื้อขายกันจริง สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมเกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์และจำเลยตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดิน ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยสมรู้กันทำสัญญาขึ้นโดยไม่มีเจตนาผูกพันกันและทำเพื่อให้จำเลยนำไปฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยองเช่นนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ