โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 283 ทวิ, 284, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 283 ทวิ วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร จำคุก 4 ปี ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 3 ปี ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก, 284 วรรคแรก กับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารและความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีเป็นความผิดคนละกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 3 อายุ 16 ปีเศษ ไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง แล้วจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 3 ในขณะเดียวกันนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีความมุ่งหมายเพียงประการเดียวที่จะกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 3 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ต้องลงโทษตามมาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด หาใช่เป็นความผิดคนละกรรมต่างกันไม่ แม้โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำความผิดของจำเลยมาในฟ้องเป็นข้อ ข. และข้อ ค. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน และจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ศาลก็จะลงโทษจำเลยหลายกรรมเป็นกระทงความผิดหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน