โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 409,220.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 397,143.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 397,143.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 397,143.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้ปรับเปลี่ยนตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 โจทก์โดยนายอำเภอพระยืนในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ตกลงทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ให้ดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรลูกรังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก สายที่ 1 กว้าง 4 เมตร ยาว 90 เมตร หนา 0.15 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่เทคอนกรีตไม่น้อยกว่า 360 ตารางเมตร สายที่ 2 กว้าง 4 เมตร ยาว 89.50 เมตร หนา 0.15 เมตร หรือคิดเป็นพื้นที่เทคอนกรีตไม่น้อยกว่า 358 ตารางเมตร พร้อมป้ายประชาสัมพันธ์และป้ายโครงการ 1 ชุด วงเงินงบประมาณ 439,000 บาท กำหนดเริ่มทำงานภายในวันที่ 26 มกราคม 2559 และต้องทำงานให้เสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2559 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ส่งมอบงาน นายอำเภอพระยืนมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแจ้งว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 วงเงิน 439,000 บาท ให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นการระบุชื่อผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องผิดพลาด ความจริงแล้วผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้าง คือ นางกัญญาภัทร หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 นายอำเภอพระยืนมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นขอเบิกเงินงบประมาณรายจ่ายตามสัญญาจ้าง 439,000 บาท แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ผิดสัญญาส่งมอบงานล่าช้า มีค่าปรับตามสัญญารายวันรวมเป็นเงิน 37,754 บาท และหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย 4,102.80 บาท คงเหลือเงินค่าจ้าง 397,143.20 บาท สำนักงานจังหวัดขอนแก่นโอนเงินค่าจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้ว ต่อมานางกัญญาภัทรยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองขอนแก่นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 225/2559 หมายเลขแดงที่ 170/2561 เรียกให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญา 439,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ศาลปกครองขอนแก่นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่นางกัญญาภัทร 397,143.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีดังกล่าวถึงที่สุด และโจทก์ชำระเงินให้แก่นางกัญญาภัทรตามคำพิพากษาแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืน ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นราชการส่วนกลางมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมหาดไทย และราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน โจทก์โดยสำนักงบประมาณได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ถึงปี 2558 เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่สำนักงานจังหวัดโดยตรง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จากนั้นจังหวัดขอนแก่นเห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวทางและคู่มือการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ จึงมอบอำนาจให้นายอำเภอพระยืนเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในการสั่งซื้อสั่งจ้างและดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุทุกขั้นตอนในวงเงินสั่งซื้อสั่งจ้างไม่เกิน 5,000,000 บาท โจทก์โดยนายอำเภอพระยืนในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ตกลงทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ให้ดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรลูกรังพร้อมป้ายประชาสัมพันธ์และป้ายโครงการ 1 ชุด วงเงินประมาณ 439,000 บาท ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 จำนวนเงินค่าจ้าง 439,000 บาท ให้แก่นางกัญญาภัทร โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 แต่โจทก์กลับโอนเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นการโอนเงินให้ผู้รับผิดคนและเป็นการผิดหลง ซึ่งจำเลยให้การและนำสืบรับว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากโจทก์จริง เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินโดยผิดหลง โจทก์จึงมีหน้าที่และสิทธิติดตามนำเงินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวคืนกลับมาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิรับเงินงบประมาณแผ่นดิน แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเข้าใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจะต้องได้รับจากโจทก์ และได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก่อนที่โจทก์จะทวงถามให้จำเลยคืนก็ตาม จำเลยก็ต้องส่งเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคืนให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณที่มีสิทธิติดตามเอาคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานะลาภมิควรได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ