โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 161,188,901.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 138,196,814.06 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19184, 28836, 28837, 28843, 38239, 43992 ถึง 43994 และ 43999 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหมายเลขทะเบียนจำนอง 200 – 0933/53 เครื่องจักร เครื่องชั่ง เครื่องสีข้าวและชุดอบข้าวเปลือก หมายเลขทะเบียน 53 – 110 – 106 – 0001 และ 53 – 110 – 106 – 0003 ถึง 53 – 110 – 106 – 0005 พร้อมอุปกรณ์ และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 161,188,901.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 138,196,814.06 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กันยายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19184, 28836, 28837, 28843, 38239, 43992 ถึง 43994 และ 43999 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 200 – 0933/53 เครื่องจักร เครื่องชั่ง เครื่องสีข้าวชุดอบข้าวเปลือก หมายเลขทะเบียน 53 – 110 – 106 – 0001 และ 53 – 110 – 106 – 0003 ถึง 53 – 110 – 106 – 0005 พร้อมอุปกรณ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอสินเชื่อไว้แก่โจทก์ตามโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ฯ และเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2553 ณ วันฟ้อง (วันที่ 27 กันยายน 2561) เป็นต้นเงิน 58,196,814.06 บาท ดอกเบี้ย 9,662,841.02 บาท โดยจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 105,000 บาท และตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน ฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2553 ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 80,000,000 บาท ดอกเบี้ย 13,329,246.57 บาท โดยจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เป็นเงิน 145,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 19184, 28836, 28837, 28843, 38239, 43992 ถึง 43994 และ 43999 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรหมายเลขทะเบียนจำนอง 200 – 0933/53 เครื่องจักร เครื่องชั่ง เครื่องสีข้าวและชุดอบข้าวเปลือก หมายเลขทะเบียน 53 – 110 – 106 – 0001, 53 – 110 – 106 – 0003 ถึง 53 – 110 – 106 – 0005 พร้อมอุปกรณ์ เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ถึงจำเลยทั้งสี่ขอให้ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนอง โดยระบุว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีหนี้ค้างชำระตามสัญญากู้เงินเป็นต้นเงิน 58,196,814.06 บาท พร้อมดอกเบี้ย และตามสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนเป็นต้นเงิน 80,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนองภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับหนังสือนั้นแล้วเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ส่วนจำเลยที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ในชั้นสืบพยานโจทก์อ้างด้วยว่า หลังจากผิดสัญญา โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายโดยชอบแล้ว คือ หนังสือลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ถึงจำเลยทั้งสี่แจ้งเตือนให้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายใน 7 วัน นับจากได้รับหนังสือ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จำเป็นต้องดำเนินการตามระเบียบของธนาคารต่อไป ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องไม่เคลือบคลุม โจทก์คำนวณยอดหนี้ค้างชำระและดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยอาศัยประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ชอบแล้ว ฟังว่ายอดหนี้ทั้งหมด ณ วันฟ้องเป็นเงิน 161,188,901.65 บาท โจทก์บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โดยให้เหตุผลถึงหลักฐานในข้อนี้คือหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระหนี้ลงวันที่ 22 (ที่ถูก 23) พฤษภาคม 2561 ที่ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 30 และ 31 พฤษภาคม 2561 กับโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วตามหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองและกำหนดให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 138,196,814.06 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ชำระหนี้ดังกล่าว หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์จำนอง คดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี สูงเกินไป กรณีต้องนำเงินที่จำเลยทั้งสี่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 จำนวน 105,000 บาท และ 145,000 บาท มาหักทอนดอกเบี้ยและต้นเงินด้วย การบอกกล่าวตามหนังสือทวงถามไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในวันที่บอกกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินแก่โจทก์ ยอดหนี้ดังกล่าวไม่ตรงกับยอดหนี้สรุปการคิดดอกเบี้ยและเงินต้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดชอบหนี้ทั้งหมดคงรับผิดเฉพาะหนี้ส่วนที่ผิดนัดเท่านั้น และจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาที่จะผิดนัด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสี่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระหนี้เกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดหรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ประกอบสำเนาการ์ดสรุปยอดหนี้พร้อมรายการทะเบียนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่ครบจำนวนที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญากู้เงินและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนเอกสาร ตั้งแต่ปี 2560 หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับรับชำระหนี้ไว้โดยไม่อิดเอื้อน ทั้งมีการงดคิดดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 แสดงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้จำเลยทั้งสี่ชำระทั้งหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือนั้นแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ครบกำหนดวันที่ 6 มิถุนายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 19 ให้สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเพื่อให้ทราบถึงการผิดนัดนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 จึงถือได้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การรับฟังเอกสารการบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏรายละเอียดและชื่อผู้จัดทำ เป็นเอกสารที่นำเข้าสู่สำนวนคดีหลังจากจำเลยทั้งสี่ยื่นคำให้การแล้วนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้แนบหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ท้ายคำฟ้อง แต่ตามบัญชีพยานของโจทก์ลงวันที่ 27 กันยายน 2561 โจทก์ระบุพยานอันดับ 22 คือ หนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบอกกล่าวบังคับจำนอง พร้อมใบตอบรับทางไปรษณีย์หรือจดหมายตีกลับ ใบรับฝาก ใบรับเงินบริษัท/ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผลการค้นหาผลการนำจ่ายสิ่งของ ทั้งโจทก์นำสืบหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยจำเลยทั้งสี่ไม่ถามค้านพยานโจทก์เพื่อหักล้างเอกสารฉบับนี้ และไม่คัดค้านการที่โจทก์อ้างส่งเอกสารนี้เป็นพยานหลักฐาน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ เป็นการบอกกล่าวทวงถามโดยชอบแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเพียงใด เห็นว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ 129,000,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยปีที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 อัตราคงที่ร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเท่ากับ เอ็ม.แอล.อาร์ (MLR) บวก 1.0 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเท่ากับเอ็ม.แอล.อาร์ (MLR) บวก 0.25 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนจากโจทก์ ในวงเงิน 80,000,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2554 ยอมชำระดอกเบี้ยปีที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 อัตราคงที่ร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเท่ากับ เอ็ม.แอล.อาร์ (MLR) บวก 3.75 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเท่ากับ เอ็ม.แอล.อาร์ (MLR) บวก 0.25 ต่อปี เมื่อพิจารณาทางนำสืบของโจทก์ประกอบสำเนาการ์ดสรุปยอดหนี้พร้อมรายการทะเบียนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ประกอบประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราคงที่และอัตราที่มีการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยตามประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.แอล.อาร์ ของโจทก์ บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน กรณีจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน โดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลย่อมไม่มีอำนาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ แต่ส่วนที่สัญญากู้เงิน ข้อ 3.2 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัด หรือผิดสัญญา หรือผิดบันทึกข้อตกลง หรือเอกสารแนบท้ายสัญญากู้เงินฉบับนี้ ผู้กู้ตกลงให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้กู้ประกาศเรียกเก็บจากผู้กู้ในขณะผิดนัดชำระหนี้ โดยให้คิดนับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดหรือผิดสัญญา และสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียน ข้อ 6 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้เรียกเก็บได้ทันที นับแต่วันที่ลงในตั๋วสัญญาใช้เงิน และหรือนับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ให้แก่ผู้ให้กู้จนครบถ้วน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมายเท่ากับร้อยละ 18 ต่อปี ตามประกาศของโจทก์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ข้อเท็จจริงได้ความจากสำเนาการ์ดสรุปยอดหนี้พร้อมรายการทะเบียนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมว่า นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันฟ้อง แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์คงคิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยปกติอีกร้อยละ 6 ต่อปี รวมเป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยที่ 1 ทั้งหมดแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ชอบแล้ว โดยรับฟังยอดหนี้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น และกำหนดดอกเบี้ยก่อนฟ้องในมูลหนี้ทั้งสองเป็นเงิน 9,662,841.02 บาท และ 13,329,246.57 บาท จึงชอบและเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ขอให้ศาลปรับลดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นจำนวนที่เหมาะสมนั้น จำเลยทั้งสี่ไม่นำสืบและฎีกาให้เห็นว่าศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไม่เหมาะสมอย่างไร เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสี่รับผิดต่อโจทก์อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ใช่เบี้ยปรับ โจทก์มีสิทธิคิดได้ตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ