โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,382,773.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,256,612.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนแก่โจทก์ 1,256,612.37 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นเวลา 60 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นฎีกา ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ 3,000,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็ม อาร์ อาร์ บวก 6.75 ต่อปี หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดร้อยละ 18 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 104,600 บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 10 มีนาคม 2560 และงวดต่อ ๆ ไปทุกวันที่ 10 ของเดือน กำหนดชำระเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี นับจากวันรับเงินกู้ มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดต่อโจทก์เมื่อใด และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์สอดคล้องกับรายการชำระหนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาและไม่ครบจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้ โจทก์ก็ยอมรับชำระไว้ทุกครั้งโดยไม่ได้ทักท้วง พฤติการณ์ย่อมแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีจึงถือว่าเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน และจะถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือนให้ชำระหนี้ก่อน แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 และวันที่ 1 เมษายน 2562 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือในวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 3 สิงหาคม 2562 และต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 ซึ่งภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับไว้เองในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 กรณีจึงถือได้ว่า เป็นการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 ชำระเพียงหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2562 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,206,726.50 บาท นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ