โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 4, 5, 6, 7, 12, 21, 50 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบไม้ประดู่แปรรูป 309 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ไม้ประดู่แปรรูป 3,356 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม และไม้สะเดาแปรรูป 10 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 50 วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 50,000 บาท ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 50,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 ปี และปรับ 150,000 บาท ฐานมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 ปี และปรับ 150,000 บาท ฐานแปรรูปไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท ฐานมีไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 6 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 25,000 บาท ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และปรับ 25,000 บาท ฐานแปรรูปไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี และปรับ 75,000 บาท ฐานมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี และปรับ 75,000 บาท ฐานแปรรูปไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท ฐานมีไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่ถูก ฐานมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต) จำคุก 3 ปี และปรับ 50,000 บาท รวมจำคุก 14 ปี 12 เดือน และปรับ 300,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 ครั้ง ภายในระยะเวลาดังกล่าว และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ไม่ลงโทษปรับ และไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยโดยแยกกระทงเรียงลำดับกันไปมีใจความสำคัญว่า ฟ้องข้อ 2 (ก) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับไม้โดยนำเครื่องจักรมาติดตั้งที่โรงเลื่อย พ. อันจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อ 2 (ข) ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขึ้นที่โรงเลื่อย พ. โดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อ 2 (ค) ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยแปรรูปไม้ประดู่ซึ่งขึ้นในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อ 2 (ง) ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2 (ค) จำเลยมีไม้ประดู่แปรรูปซึ่งขึ้นในป่า 309 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อ 2 (จ) ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาซึ่งขึ้นในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อ 2 (ฉ) ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 2 (จ) จำเลยมีไม้ประดู่กับไม้สะเดาแปรรูปซึ่งขึ้นในป่า รวม 3,366 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เห็นได้ว่า ความผิดฐานแปรรูปไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกเป็นข้อ ๆ ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระแยกออกจากกัน ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาเป็นความผิดคนละประเภทกัน ทั้งอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่การกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนความผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดของจำเลยฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตมาคนละข้อต่างหากจากกัน แต่การที่จำเลยตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับไม้อันเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็เพื่อที่จะแปรรูปไม้ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิด รวม 6 กระทง นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานแปรรูปไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายมาในฟ้องข้อ 2 (ค) ข้อ 2 (ง) ข้อ 2 (จ) และข้อ 2 (ฉ) แล้วว่า จำเลยแปรรูปไม้ประดู่และไม้สะเดาซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นในป่า อันเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยมีไม้ประดู่และไม้สะเดาแปรรูปซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นในป่า อันเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต หาใช่มิได้บรรยายมาในฟ้องตามที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ตามข้อเท็จจริงที่บรรยายมาดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่ทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ได้ไม้ประดู่และไม้สะเดาของกลางมาจากที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ไม่เป็นไม้หวงห้าม ย่อมไม่มีความผิดนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลย ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า สมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายข้อหา การที่จำเลยตั้งโรงงานแปรรูปไม้และแปรรูปไม้โดยมีไม้ประดู่แปรรูปของกลางมากถึง 309 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 48.46 ลูกบาศก์เมตร กับอีก 3,356 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 25.198 ลูกบาศก์เมตร และไม้สะเดาแปรรูป 10 ชิ้น/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 0.795 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าเป็นไม้จำนวนมาก การกระทำของจำเลยเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อความสมดุลในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานต่าง ๆ มานั้น นับว่าเป็นการวางโทษในสถานเบาและเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว แม้จำเลยจะมีเหตุส่วนตัวหรือมีภาระความจำเป็นอื่นดังที่อ้างมาในฎีกาก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยในสถานเบากว่านี้และรอการลงโทษให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษมาและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับไม้โดยนำเครื่องจักรมีกำลังรวม 138 แรงม้า มาติดตั้งที่โรงเลื่อย พ. อันจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการบรรยายตามองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง โดยไม่ได้บรรยายว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานประเภทหรือชนิดที่กำหนดจำนวนหรือขนาดที่จะให้ตั้งหรือไม่ให้ตั้งในท้องที่ใดตามประกาศที่ออกตามมาตรา 32 (1) อันเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 50 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษในฐานนี้เป็นมาตรา 50 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 50 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว เป็นจำคุก 14 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3