โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 นางสาวธันย์ชนก และนางสาวนัทธมน เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 โดยกรรมการสองในสี่คนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 หรือที่ 7 รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2549 แต่ภายหลังมีข้อพิพาทกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมขายให้อีก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 จำเลยที่ 1 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 40 (1/2561) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบดุลและงบการเงินประจำปี 2560 ซึ่งตรวจสอบโดยนายนที ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 12 ลูกหนี้มีปัญหาขาดสภาพคล่องว่า ลูกหนี้รายหนึ่งขาดสภาพคล่องขอผ่อนผันชำระหนี้ค้างนาน ตามหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 จำนวน 166,619,313.20 บาท โดยชำระเป็นงวด ๆ เป็นระยะเวลา 7 ปี และขอมอบอำนาจในการจำนองที่ดินของบริษัทที่เกี่ยวข้องกันไว้เป็นหลักประกัน มีจำเลยที่ 2 และที่ 7 ลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินดังกล่าวว่าถูกต้องตามสำเนาหนังสือเชิญประชุมและงบการเงินพร้อมหมายเหตุประกอบงบการเงิน ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 จำเลยที่ 1 จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณาเพิกถอนมติของการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 40 (1/2561)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า คดีโจทก์ทั้งสามมีมูลหรือไม่ เห็นว่า แม้การรับฟังพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องกับชั้นพิจารณาจะแตกต่างกัน โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดที่ฟ้องก็ฟังได้แล้วว่าคดีมีมูลตามฟ้อง ไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานจนปราศจากความสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นเหมือนดังเช่นในชั้นพิจารณาก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องมาจากพยานหลักฐานที่ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามกฎหมายและพยานหลักฐานนั้นต้องไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ชัดด้วย คดีนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสามมีโจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 40 (1/2561) โจทก์ที่ 2 สอบถามนายนทีในฐานะผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีการอ้างถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 12 นายนทีจึงนำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมาให้โจทก์ที่ 2 ตรวจดู พบว่ามีโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้สอบถามโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนแล้ว บุคคลทั้งสองแจ้งว่าไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาก่อน เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่อ้างว่าเป็นเอกสารปลอม รวมทั้งโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนที่อ้างว่าเป็นผู้ถูกปลอมลายมือชื่อ ถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดตามฟ้อง แต่โจทก์ทั้งสามไม่ได้นำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมาแสดงต่อศาลหรือขอให้ศาลหมายเรียกจากผู้ครอบครองเอกสารมาอ้างเป็นพยาน ทำให้ไม่อาจตรวจสอบลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ได้ อีกทั้งไม่ได้นำโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่ลายมือชื่อของตน คงมีเพียงโจทก์ที่ 2 มาเบิกความเพียงปากเดียว แต่คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ที่อ้างถึงข้อความและลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ก็ดี ที่อ้างว่าโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาก่อนก็ดี ล้วนเป็นพยานบอกเล่าซึ่งทั้งโจทก์ที่ 3 และนางสาวนัทธมนต่างเป็นพยานที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะติดตามตัวมาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็น ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะให้รับฟังได้ จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ภายหลังจากถูกโจทก์ที่ 2 ทักท้วงในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 40 (1/2561) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 จึงได้ส่งตัวอย่างหนังสือรับสภาพหนี้มาให้โจทก์ที่ 1 จัดทำหนังสือรับสภาพหนี้ย้อนหลังโดยลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560 หากหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีการอ้างถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 12 ไม่ใช่เอกสารปลอมก็ไม่จำต้องให้โจทก์ที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ย้อนหลังให้อีกนั้น ได้ตรวจดูซองเอกสารที่อ้างว่าใช้ส่งตัวอย่างหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว มีรอยฉีกขาดที่ชื่อผู้รับจนไม่อาจทราบได้ว่าผู้รับเป็นบุคคลใด ที่อยู่ของผู้รับก็เป็นบริษัทจำเลยที่ 1 มิใช่โจทก์ที่ 1 จึงมีข้อให้น่าสงสัยอยู่มากว่าตัวอย่างหนังสือรับสภาพหนี้ได้บรรจุมาในซองเอกสารดังกล่าวหรือไม่ อีกทั้งแสตมป์ค่าธรรมเนียมการส่งจดหมายที่ปิดอยู่บนหน้าซองระบุวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันก่อนวันประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 40 (1/2561) หากมีการส่งตัวอย่างหนังสือรับสภาพหนี้มาในซองเอกสารดังกล่าวจริง เท่ากับส่งมาก่อนโจทก์ที่ 2 จะทักท้วงในที่ประชุมเสียอีก อันเป็นการขัดกับฎีกาของโจทก์ทั้งสามเอง นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 ยังเบิกความรับว่าโจทก์ที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าที่สั่งซื้อจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 160,000,000 บาท สอดคล้องกับที่นางสาวธันย์ชนกกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในใบตอบรับส่งไปยังผู้สอบบัญชีของจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 โจทก์ที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 1 อยู่ 167,186,089.80 บาท ซึ่งยอดหนี้มีจำนวนใกล้เคียงกับยอดหนี้ 166,619,313.20 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีการอ้างถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 12 น่าเชื่อว่าหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวทำขึ้นตามความจริง พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้รับฟังได้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีการอ้างถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 12 เป็นเอกสารปลอม การระบุยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวในงบการเงินของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการลงข้อความเท็จในบัญชี คดีโจทก์ทั้งสามไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน