โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำนวนเงินที่จำเลยทุจริตไม่มาก จำเลยไม่มีประวัติว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนและจำเลยถูกให้ออกจากราชการซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลย ผลร้ายดังกล่าวเพียงพอกับความผิดของจำเลยแล้ว จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ต่อมาเดือนตุลาคม 2552 องค์การบริหารส่วนตำบล ท. ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ท. ในปีงบประมาณ 2550 ขณะที่เทศบาลตำบล ท. ยังเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยนายวัชรพล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สังกัดสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ท. เป็นผู้เสนอโครงการ จำเลยเป็นผู้เห็นชอบโครงการ และนายอานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ในขณะนั้นเป็นผู้อนุมัติโครงการ กำหนดการอบรมระหว่างวันที่ 27 ถึง 31 สิงหาคม 2550 ณ กรมทหารราบที่ 7 มีผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นสมาชิก อปพร. ตำบล ท. จำนวน 13 หมู่บ้าน รวม 80 คน โดยใช้เงินนอกงบประมาณ คือเงินสะสมและเงินงบประมาณในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยรวมจำนวน 406,000 บาท เป็นค่าดำเนินการในโครงการดังกล่าว ได้แก่ ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าอุปกรณ์ดับเพลิง ค่ากระโดดหอ ค่าชุด ค่าอาหารว่าง ค่าเครื่องเสียง ค่าเครื่องเขียน ค่าคู่มือ ค่าใบประกาศ ค่าน้ำมัน ค่าจ้างเหมาทำป้าย ค่าดอกไม้ และค่ารถรับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 จากองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ไปยังกรมทหารราบที่ 7 เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะขาไป ในวันที่ 29 สิงหาคม 2550 จากกรมทหารราบที่ 7 ไปอ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่าเพื่อกระโดดหอสูงทดสอบกำลังใจ ทั้งขาไปและขากลับ และในวันที่ 31 สิงหาคม 2550 จากกรมทหารราบที่ 7 กลับองค์การบริหารส่วนตำบล ท. เฉพาะขากลับด้วย จำนวน 2 คัน คันละ 8,000 บาท รวมเป็นเงิน 16,000 บาท ตามบันทึกข้อความขออนุมัติดำเนินโครงการและประมาณค่าใช้จ่าย ต่อมามีการฝึกอบรมตามกำหนดวันเวลาดังกล่าว ในส่วนของการเช่ารถรับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล ท. โดยนายอานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ทำบันทึกตกลงจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. โดยนางสาวธิดารัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ และมีคำสั่งแต่งตั้งนายวัชรพล นางสาวพรรณี นักพัฒนาชุมชน และนางสาวพิทยาภรณ์ นักวิชาการประชาสัมพันธ์ เป็นคณะกรรมการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้าง ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ที่ 333/2550 ต่อมามีการเบิกค่ารถดังกล่าวจำนวน 15,840 บาท (หักภาษี 160 บาท) ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้รับจ้างไป ตามฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่าย ต่อมาวันที่ 16 มิถุนายน 2552 มีผู้ร้องเรียนนายอานนท์และจำเลยต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าทุจริตเงินค่าจ้างรถดังกล่าวมีการนำชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. มาเป็นผู้รับจ้าง แต่ในความเป็นจริงได้รับความอนุเคราะห์รถรับส่งจากกรมทหารราบที่ 7 ตามหนังสือร้องเรียน คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งพนักงานไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายอานนท์กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยมีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา จำเลยจึงถูกดำเนินคดีเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ด้วยนั้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 43 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 นั้น โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงมาในคำฟ้องว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจ นางสาวธิดารัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ว่า องค์การบริหารส่วนตำบล ท. ต้องการจ้างรถโดยสารขนาด 40 ที่นั่ง เพื่อใช้ในโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จำนวน 1 คัน ราคา 8,000 บาท แต่ขอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวทำสัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบล ท. ว่ามีการจ้างรถโดยสารขนาดดังกล่าวจำนวน 2 คัน รวมเป็นเงิน 16,000 บาท โดยให้ทำหลักฐานการส่งมอบพร้อมทั้งออกใบเสร็จรับเงินเป็นการจ้างรถโดยสารขนาดดังกล่าวจำนวน 2 คัน แล้วให้นำเงินค่าจ้างส่วนต่างที่เบิกมาจำนวน 8,000 บาท มามอบให้จำเลย นางสาวธิดารัตน์ตกลงตามที่จำเลยเสนอเข้าทำสัญญาจ้าง ทำเอกสารส่งมอบงานและออกใบเสร็จรับเงินค่าจ้างเป็นการจ้างรถโดยสารจำนวน 2 คัน ราคา 16,000 บาท แล้วนำเงินส่วนต่างไปมอบให้แก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกรับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ แต่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว วินิจฉัยว่า ไม่มีการจ้างรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) แต่จำเลยดำเนินการให้ปรากฏหลักฐานว่ามีการจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. นำรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 เที่ยว แล้วเบิกเงินค่าจ้างจำนวน 16,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก โดยนางสาวธิดารัตน์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนดังกล่าว แม้แตกต่างจากที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยไม่หลงต่อสู้เพราะจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ดังนั้น จะมีรถหรือไม่ หรือมีกี่คันก็เป็นความผิดทั้งสิ้น ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงมิใช่สาระสำคัญ ศาลลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง การที่จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ตามฟ้องโจทก์ เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานนี้ผู้ถูกข่มขืนใจหรือจูงใจต้องมิใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานด้วย จากเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลชั้นต้นมิได้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและนำพยานเข้าไต่สวนในชั้นการพิจารณาของศาลว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจนางสาวธิดารัตน์ ให้ทำเอกสารหรือหลักฐานการรับจ้างรถโดยสาร 2 คัน มาส่งมอบแล้วนำหลักฐานนั้นมาทำการเบิกจนได้รับส่วนต่าง แล้วนำเงินส่วนต่างมามอบให้แต่อย่างใด แต่รับฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับนางสาวธิดารัตน์ดำเนินการให้ปรากฏหลักฐานว่ามีการจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. นำรถโดยสารมารับส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 เที่ยว แล้วเบิกเงินค่าจ้างจำนวน 16,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยกับพวก จึงไม่มีการข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เนื่องจากนางสาวธิดารัตน์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่โจทก์ฟ้องและนำพยานเข้าไต่สวนในชั้นพิจารณาของศาล แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องอย่างไรที่ถูกควรเป็นอย่างไร แต่กลับอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว เพราะผู้ถูกข่มขืนใจไม่จำเป็นว่าจะต้องมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่ไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา แต่อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมานั้น การกระทำของจำเลยก็ยังคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 อยู่นั่นเอง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 43 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ไปเสียทีเดียว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น..." นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อนางสาวธิดารัตน์เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษ นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้เหตุผลเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน