โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,000,000 บาท พร้อมเงินปันผลอีก 574,950 บาท หรือให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแบบทรัพย์ปันผล 10/1 (มีเงินปันผล) มีจำนวนเบี้ยประกันหรือทุนประกัน 2,874,750 บาท พร้อมเงินปันผลอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เงินเอาประกันภัย 3,000,000 บาท พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ เหมือนกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767) โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นคุ้มครองและสิ้นสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,000,000 บาท พร้อมเงินปันผล 1,341,550 บาท หรือให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแบบทรัพย์ปันผล 10/1 (มีเงินปันผล) มีจำนวนเบี้ยประกันหรือทุนประกัน 6,707,750 บาท พร้อมเงินปันผลอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เงินเอาประกันภัย 7,000,000 บาท พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ เหมือนกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781) โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นคุ้มครองและสิ้นสุดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมเงินปันผล 2,288,520 บาท และเงินปันผลอีกปีละ 190,710 บาท ติดต่อกันไป 3 ปี หรือให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแบบทรัพย์ปันผล 15/2 (มีเงินปันผล) จำนวนทุนประกัน 9,535,500 บาท พร้อมเงินปันผลอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท โดยให้มีระยะเวลาเริ่มต้นและคุ้มครองสิ้นสุดรายละเอียดต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327) แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 10,000,000 บาท พร้อมเงินปันผล 2,264,400 บาท และเงินปันผลอีกปีละ 188,700 บาท ติดต่อกันไป 3 ปี หรือให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยแบบทรัพย์ปันผล 15/2 (มีเงินปันผล) จำนวนทุนประกัน 9,435,000 บาท พร้อมเงินปันผลอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท โดยให้มีระยะเวลาเริ่มต้นและคุ้มครองสิ้นสุด รายละเอียดต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม (กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224) แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,205,020 บาท แก่โจทก์ที่ 1 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือจำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต่าง ๆ ให้โจทก์ที่ 1 ตามที่โจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,264,400 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้โจทก์ที่ 2 ตามที่โจทก์ที่ 2 ขอ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 10,054,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,414,959.40 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 25,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจประกันชีวิต จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2547 โจทก์ทั้งสองและครอบครัวทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ ฉบับที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 1 วันเริ่มสัญญาประกันภัย 22 มีนาคม 2547 แบบกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์ปันผล 10 (มีเงินปันผล) วันทำสัญญาประกันภัย 24 มีนาคม 2547 จำนวนเงินเอาประกันภัย 3,000,000 บาท วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย 22 มีนาคม 2557 เบี้ยประกันภัย 2,874,750 บาท ชำระเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ฉบับที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 1 วันเริ่มสัญญาประกันภัย 5 เมษายน 2547 แบบกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์ปันผล 10 (มีเงินปันผล) วันทำสัญญาประกันภัย 7 เมษายน 2547 จำนวนเงินเอาประกันภัย 7,000,000 บาท วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย 5 เมษายน 2557 เบี้ยประกันภัย 6,707,750 บาท ชำระเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้ว ฉบับที่ 3 ถึงฉบับที่ 9 เป็นสัญญาประกันชีวิตแบบกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์ปันผล 15/2 (มีเงินปันผล) ที่ผู้เอาประกันภัยชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อจำเลยที่ 1 รับทำสัญญาประกันชีวิต ครั้งที่ 2 เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะให้ความคุ้มครองจนครบปีที่ 15 จ่ายปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เอาประกันภัยในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินค่าเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนครบปีที่ 15 เป็นประจำทุกปี และเมื่อครบ 15 ปี จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินคืนตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ทำไว้ หรือหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนครบสัญญาจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ทายาทต่อไป โดยฉบับที่ 3 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101257812 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 1 จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 96,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 48,000 บาท และครั้งที่ 2 อีก 48,000 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 ฉบับที่ 4 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101257800 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 2 จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 95,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 47,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 47,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 ฉบับที่ 5 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101257796 ผู้เอาประกันภัยคือนางสาวอุมาพร จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 95,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 47,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 47,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 ฉบับที่ 6 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101257824 ผู้เอาประกันภัยคือนางสาวมณี จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท เบี้ยประกันภัย 95,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 47,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 47,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 ฉบับที่ 7 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104119089 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 1 จำนวนเงินเอาประกันภัย 2,000,000 บาท เบี้ยประกันภัย 1,911,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 955,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 955,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้โจทก์ที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยทั้งสอง ฉบับที่ 8 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 1 จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท เบี้ยประกันภัย 9,535,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 4,767,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 4,767,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 ฉบับที่ 9 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 ผู้เอาประกันภัยคือโจทก์ที่ 2 จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท เบี้ยประกันภัย 9,435,000 บาท ชำระครั้งแรกวันทำสัญญา 4,717,500 บาท และครั้งที่ 2 อีก 4,717,500 บาท เมื่อครบกำหนดปีที่ 2 สัญญาประกันชีวิตฉบับที่ 3 ถึงที่ 9 ชำระค่าเบี้ยประกันภัยครั้งแรกครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งสองขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยต่อจำเลยที่ 1 จำนวน 4 ฉบับ คือ กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 จำนวนเงินเอาประกันภัย 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำนวนเงิน 2,593,973 บาท ให้โจทก์ที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 จำนวนเงินเอาประกันภัย 7,000,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำนวนเงิน 6,048,575 บาท ให้โจทก์ที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 จำนวนเงิน 2,929,843.66 บาท ให้โจทก์ที่ 1 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000,000 บาท จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 จำนวนเงิน 2,840,567.74 บาท ให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าหลอกลวงให้โจทก์ทั้งสองเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทั้งสองทำไว้ต่อจำเลยที่ 1 และหลอกลวงเอาเงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเป็นค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไป จากนั้นต้นปี 2556 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2385/2556 ข้อหาฉ้อโกง ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ศาลอาญาพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้องลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ รวม 14,414,959.40 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
กรณีเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 จัดการเบื้องต้นให้บุคคลยื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวมทั้งเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เข้าไปติดต่อกับโจทก์ทั้งสองตั้งแต่โจทก์ที่ 1 สนใจจะทำสัญญาประกันชีวิตฉบับแรกกับจำเลยที่ 1 ตามคำชักชวนของนางสาวจิตติมา ญาติของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ทีมเดียวกับจำเลยที่ 2 มีสามีของจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าทีม จนครอบครัวของโจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 ร่วมกับสมาชิกในทีมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองและครอบครัวทำใบคำขอเอาประกันชีวิตยื่นต่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งออกใบรับเงินชั่วคราวของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 9 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้มาส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าสามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ทุนประกันภัยเท่าเดิม แต่จะทำให้ได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าเดิม อันเป็นการชักชวนให้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตรูปแบบใหม่กับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตัวแทนประกันชีวิตที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวพนักงานอัยการจะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยมีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้องจนคดีถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ประเด็นแห่งคดีมีว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือไม่ มิใช่จำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงแตกต่างจากคดีอาญา การพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่จำเลยที่ 1 แก้ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์และขอรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ แล้วนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติให้เวนคืนก็ดำเนินการรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยและออกใบรับเงินชั่วคราวในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับการเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ตามที่ได้เสนอขายแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนและไม่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะที่เป็นตัวการแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 70/1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้หยิบยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 71 วรรคสอง กำหนดว่าตัวแทนประกันชีวิตไม่อาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท และมีผลให้การชักชวนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คำเสนอในการทำสัญญาประกันชีวิตก็ตาม แต่โดยลักษณะของการชักชวนดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่มุ่งหมายให้โจทก์ทั้งสองผู้ถูกชักชวนตอบตกลงที่จะทำคำขอเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่โดยเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม 4 ฉบับ เพื่อนำเงินมาชำระเป็นเบี้ยประกันภัย อันเป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงถือเป็นคำเสนออย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงจึงเป็นคำสนองและเกิดเป็นสัญญาต่างตอบแทนขึ้น แม้จะมิใช่สัญญาประกันชีวิต แต่ก็เป็นสัญญาที่มีผลผูกพันและก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งสองเมื่อได้รับเงินจากการเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม 4 ฉบับ แล้ว ก็ต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องพิจารณาการขอเปลี่ยนหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ภายในเวลาอันสมควรว่าจะรับประกันภัยหรือไม่ หากไม่รับก็ต้องคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย แต่สำหรับคดีนี้ต้องออกเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนได้สัญญาไว้ ซึ่งการใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ส่วนปัญหาว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งกรณีการขอเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่โดยการขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิมแล้วนำเงินที่ได้มาชำระเป็นเบี้ยประกันภัยให้ครบถ้วนเสียก่อน หลังจากนั้นบริษัทประกันจึงจะพิจารณาคำขอ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ และส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ครั้งสุดท้ายวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองจึงอาจบังคับได้ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ยังไม่เกินกำหนดสิบปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำขอให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสี่ฉบับและชดใช้เงินตามผลตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับตามคำขอท้ายฟ้องบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ดังได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่จำเลยที่ 2 ชักชวนจนกระทั่งโจทก์ทั้งสองตกลงเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ประกันภัยหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่และขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม 4 ฉบับ เพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัย และต่อมาจำเลยที่ 2 แจ้งว่าไม่สามารถทำกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ได้และจะทำเป็นแบบเดิมให้โดยไม่ต้องทำคำขอใหม่ ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่มีสภาพบังคับได้และผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ โจทก์ทั้งสองย่อมสามารถมีคำขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้ แต่เมื่อพิจารณาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีคำขอประการแรกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับหากกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ หรือประการที่สองขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ส่งมอบกรมธรรม์ที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัย ผลประโยชน์ เงื่อนไข ระยะเวลาเริ่มต้นคุ้มครองและคุ้มครองสิ้นสุด รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ เหมือนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ทุกประการ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 จะครบกำหนดในวันที่ 22 มีนาคม 2557 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 จะครบกำหนดในวันที่ 5 เมษายน 2557 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 จะครบกำหนดในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 จะครบกำหนดในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 จะครบกำหนดแล้ว ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 นั้น แม้จะยังไม่ครบกำหนด ณ วันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ แต่ก็จะเหลือระยะเวลาความคุ้มครองอีกเพียง 3 ปีเศษเท่านั้น และเมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรมธรรม์ประกันภัยพิพาททั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ก็จะครบกำหนดแล้ว เช่นกัน น่าเชื่อว่าการที่โจทก์ทั้งสองมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ก็เพื่อที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากโจทก์ทั้งสองถือกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ไว้จนครบกำหนดแล้วเป็นสำคัญ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ ในส่วนนี้โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 เป็นกรมธรรม์แบบทรัพย์ปันผล 10 (มีเงินปันผล) ซึ่งให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 10 ปี และทุก ๆ ปี จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันและเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเอาประกัน 10 ปี จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ 1 เต็มตามจำนวนเงินที่เอาประกัน ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 เป็นกรมธรรม์แบบทรัพย์ปันผล 15/2 (มีเงินปันผล) ซึ่งให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 15 ปี และทุก ๆ ปี จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกัน และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเอาประกัน 15 ปี จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินคืนแก่โจทก์ทั้งสองเต็มตามจำนวนเงินที่เอาประกัน แม้ตามตารางกรมธรรม์ ในข้อกำหนดการจ่ายผลประโยชน์ ข้อ 3 เงินปันผล จะระบุถึงเงื่อนไขในการจ่ายเงินปันผลไว้ในทำนองเดียวกันว่า บริษัทจะจ่ายเงินปันผลตามที่บริษัทพิจารณากำหนดในแต่ละปี แต่เมื่อนายวสันต์ พนักงานของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบศาลถามแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินปันผลสำหรับกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ตามผลประกอบการของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะประกาศให้ลูกค้าทราบเป็นรายปี โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่า แต่ละปีจำเลยที่ 1 จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้เอาประกันภัยในอัตราเท่าใดแน่ ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะ และง่ายต่อการนำสืบ นอกจากนี้นายวสันต์ยังเบิกความต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 มีผลกำไรทุกปี จำเลยที่ 1 จึงจ่ายเงินปันผลให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยประเภทนี้ทุกปี ที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเท่ากับผลรวมของจำนวนเงินที่เอาประกันและเงินผลประโยชน์ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีของเบี้ยประกันภัยแต่ละฉบับตลอดระยะเวลาเอาประกัน เห็นว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101141767 เป็นจำนวนเงินเอาประกัน 3,000,000 บาท เงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันภัย 2,874,750 บาท คิดเป็นเงินผลประโยชน์ปีละ 57,495 บาท ผลประโยชน์ 10 ปี รวมเป็นเงิน 574,950 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายสำหรับกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 รวม 3,574,950 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ K 101147781 เป็นจำนวนเงินเอาประกัน 7,000,000 บาท เงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันภัย 6,707,750 บาท คิดเป็นเงินผลประโยชน์ปีละ 134,155 บาท ผลประโยชน์ 10 ปี รวมเป็นเงิน 1,341,550 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายสำหรับกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 รวม 8,341,550 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 เป็นจำนวนเงินเอาประกัน 10,000,000 บาท เงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันภัย 9,535,000 บาท คิดเป็นเงินผลประโยชน์ปีละ 190,700 บาท มิใช่ 190,710 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในฟ้อง สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 เป็นจำนวนเงินเอาประกัน 10,000,000 บาท เงินปันผลในอัตราร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันภัย 9,435,000 บาท คิดเป็นเงินผลประโยชน์ปีละ 188,700 บาท แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายในส่วนของผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 แก่โจทก์ที่ 1 และกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 แก่โจทก์ที่ 2 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเวลา 12 ปี เป็นเงิน 2,288,520 บาท (ที่ถูก 2,288,400) และ 2,264,400 บาท และผลประโยชน์ในอัตรา 190,710 (ที่ถูก 190,700 บาท) และ 188,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปอีก 3 ปี แต่เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรมธรรม์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะครบกำหนดระยะเวลาเอาประกัน 15 ปีแล้ว ดังนี้ เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งสองเป็นไปโดยเหมาะสมและเพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 กำหนดค่าเสียหายสำหรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ทั้ง 2 ฉบับ โดยนำเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองขอมานับถัดจากวันฟ้องอีก 3 ปี มารวมคำนวณเข้าด้วย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104136327 เงินผลประโยชน์ 15 ปี คิดเป็นเงิน 2,860,500 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 ตามกรมธรรม์ฉบับดังกล่าว 12,860,500 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ B 104173224 เงินผลประโยชน์ 15 ปี คิดเป็นเงิน 2,830,500 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 2 ตามกรมธรรม์ดังกล่าว 12,830,500 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 24,777,000 บาท และเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 12,830,500 บาท และเมื่อเป็นหนี้เงิน โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันผิดนัด แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองมีคำขอให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะสำหรับต้นเงิน 24,205,020 บาท (ที่ถูก 24,204,900 บาท) และ 12,264,400 บาท โดยมิได้มีคำขอให้คิดดอกเบี้ยสำหรับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองเรียกนับถัดจากวันฟ้อง เมื่อศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายคำนวณถึงวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 24,204,900 บาท และสำหรับโจทก์ที่ 2 จำนวน 12,264,400 บาท จึงเห็นควรกำหนดดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองสำหรับต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ เต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ว กรณีย่อมไม่จำต้องบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2385/2556 ของศาลอาญาและศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.3531/2556 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสอง 14,414,959.40 บาท การที่ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายในคดีนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว ดังนี้ เพื่อมิให้เป็นการซ้ำซ้อนกัน หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวเพียงใดก็ต้องนำมาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในคดีนี้
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติในมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามขอ ส่วนดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ทั้งสองยังคงมีสิทธิคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 24,777,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,204,900 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 12,830,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,264,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ และโดยมีเงื่อนไขว่า หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3531/2556 ของศาลอาญาเพียงใด ก็ให้โจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้น้อยลงเพียงนั้น ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองทั้งสามศาลให้เป็นพับ