โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 310 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยชดใช้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงินคนละ 144,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 135,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 (ที่ถูก มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม)) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (2) (เดิม) (ที่ถูก มาตรา 6 (2) (เดิม)), 9 วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง และวรรคสาม (เดิม) (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 20,000 บาท คำขอส่วนแพ่งอื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ของกลางพร้อมซิมการ์ดของจำเลยที่ 1 และคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ของกลางพร้อมซิมการ์ดแก่จำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคสอง และวรรคสาม (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก (เดิม) (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 9 วรรคหนึ่งด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี และฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี 3 กระทง ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี 1 กระทง ซึ่งความผิดทั้งสองฐานนี้กับความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือการทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี (ที่ถูก และฐานช่วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยได้กระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 52 วรรคสาม ประกอบมาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 12 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี 8 เดือน กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1032/2560 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้เข้าพักอาศัยโดยซ่อนเร้นให้พ้นจากการจับกุมที่กระทำในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ( 4) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่ถึงสิบแปดปี ฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 52 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 กับความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้เข้าพักอาศัยโดยซ่อนเร้นให้พ้นจากการจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 เป็นความผิดคนละประเภทกัน และยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันด้วย ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกัน สามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในคราวเดียวกันก็ตาม ก็เป็นคนละกรรมกัน ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กรณีมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกันแล้วโจทก์นำการกระทำเดียวกันนั้นมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และศาลพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1032/2560 ของศาลชั้นต้น ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดไปเฉพาะกระทงความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานอื่นตามคดีนี้ยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานดังกล่าวไปแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบนั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ได้บรรยายแล้วว่า จำเลยที่ 3 กระทำไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (เดิม) และมาตรา 9 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 3 กระทำความผิด ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานค้ามนุษย์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่งแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 และพักอาศัยอยู่บริเวณชั้นสองภายในบ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ผู้เสียหายทั้งสี่ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังภายในห้องชั้นล่างของบ้าน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้นำอาหารมาให้ผู้เสียหายทั้งสี่รับประทานบางครั้งอีกด้วย ซึ่งผิดปกติวิสัยของการดูแลแขกที่มาพักอาศัยในบ้านของตน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 กับพวกโดยคบคิดกันเป็นขบวนการในการรับผู้เสียหายทั้งสี่มาเป็นทอดๆ เพื่อส่งตัวไปบังคับใช้แรงงานที่ประเทศมาเลเซียนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 11, 52 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 อันเป็นคดีค้ามนุษย์ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดไว้เป็นการเฉพาะและคดีนี้เป็นคดีอาญา โจทก์จึงมีหน้าที่นำพยานมาไต่สวนให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่ทางไต่สวนของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด โดยพวกของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นผู้นำผู้เสียหายทั้งสี่ไปกักขังไว้ในห้องที่บ้านหลังดังกล่าว ทั้งทางไต่สวนได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้พาผู้เสียหายทั้งสี่ขึ้นรถตู้โดยสารเดินทางไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อส่งมอบให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่รอรับผู้เสียหายทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ติดต่อกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่กับแอปพลิเคชันไลน์ และจำเลยที่ 3 โอนเงิน 2,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่นำผู้เสียหายทั้งสี่ขึ้นรถตู้โดยสารจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่ติดต่อกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ดังนี้ ลำพังข้อเท็จจริงทางไต่สวนได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 และเคยจัดอาหารให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่รับประทานเพียงครั้งเดียว จะสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และพวก โดยคบคิดกันเป็นขบวนการย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เข้าใจว่าผู้เสียหายทั้งสี่เป็นญาติของญาติจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้อาหารแก่บุคคลดังกล่าวรับประทานเพราะสงสาร เช่นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 .ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 35 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 สมคบคิดกับจำเลยและบุคคลอื่น จำเลยที่ 3 เป็นเครื่องมือให้จำเลยที่ 4 เท่านั้น เห็นว่า การกระทำใดที่จะเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามที่ได้สมคบกันตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม) และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง นั้น ต้องได้ความว่าผู้นั้นมีส่วนรู้เห็น ร่วมวางแผน ตัดสินใจร่วมกัน หรือแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการเอาคนลงเป็นทาส หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกระทำการเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เมื่อทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 3 ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ทางโทรศัพท์และแอปพลิเคชันไลน์ จำเลยที่ 3 โอนเงินจำนวน 2,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่นำผู้เสียหายทั้งสี่ขึ้นรถตู้โดยสารจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้มารับผู้เสียหายทั้งสี่จากรถตู้โดยสารนำไปกักขังไว้ในบ้านของจำเลยที่ 3 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมวางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเป็นธุระจัดหา พามาจาก และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานส่งไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย อันเป็นการกระทำความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามที่ได้สมคบกันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายทั้งสี่มีเพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นขบวนการ โดยผู้เสียหายทั้งสี่ถูกบังคับ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกาย และส่งตัวเป็นทอด ๆ เป็นระยะเวลาหลายวัน เมื่อผู้เสียหายทั้งสี่ยังเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ค่าสินไหมทดแทนที่ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประชุมพิจารณากำหนดให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่จึงเหมาะสมแล้วนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม แต่ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า พวกของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 พาผู้เสียหายทั้งสี่เดินทางจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามายังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 พันตำรวจตรี พ. กับพวกจึงช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งสี่ได้ และระหว่างเดินทางพวกของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสี่ ทั้งบิดามารดาผู้เสียหายทั้งสี่ได้ส่งเงินให้พวกของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 2,500,000 จ๊าด เช่นนี้ ความเสียหายที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจึงไม่ได้มีเพียงเฉพาะเสรีภาพในร่างกายจากการที่ผู้เสียหายทั้งสี่ถูกกักขังที่บ้านจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้น แต่ยังมีความเสียหายอันเกิดจากการพาผู้เสียหายทั้งสี่เดินทางมายัง จังหวัดสงขลา ความเสียหายเป็นตัวเงิน ความเสียหายจากการทำร้ายร่างกาย และความเสียหายทางด้านจิตใจ ดังนี้ การที่ที่ประชุมพิจารณาค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นค่าความเสียหายด้านร่างกาย ค่าถูกเรียกค่าไถ่ ค่าชดเชยตามจำนวนวันที่ถูกล่อลวง และค่าเสียหายด้านจิตใจ เป็นเงินคนละ 144,000 บาท กับกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 4 เป็นค่าความเสียหายด้านร่างกาย ค่าถูกเรียกค่าไถ่ และค่าเสียหายด้านจิตใจ เป็นเงิน 135,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ตามจำนวนเงินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 40,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงินคนละ 144,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 135,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์