โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 5,781,693.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 2,516,640 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,837,292.64 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกับใช้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันของธนาคาร 2,940 บาท ทุก 3 เดือน หากไม่คืนหนังสือค้ำประกันหรือใช้ค่าธรรมเนียมธนาคารให้ชดใช้ราคา 588,000 บาท แก่โจทก์แทน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชดใช้เงิน 3,850,598 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2560 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย กับให้โจทก์รับประกันความชำรุดบกพร่องของเครื่องกำเนิดไอน้ำ 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ตามกฎหมาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,892,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,887,480 บาท นับถัดจากวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ของต้นเงิน 629,160 บาท นับถัดจากวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 352,800 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคาร คืนโจทก์ ให้จำเลยชำระเงิน 2,940 บาท ทุก 3 เดือน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวคืนโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,704,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 กันยายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานระบบวิศวกรรมระบบประกอบอาคารควบคู่ไปกับจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงงาน ซึ่งรวมถึงการติดตั้งเครื่องต้มน้ำร้อนด้วย วงเงิน 212,880,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ขออนุมัติระบบเครื่องกำเนิดไอน้ำแทนเครื่องต้มน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ต่อบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานและตรวจรับมอบงานของจำเลย วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ว่าจ้างบริษัท ท. ผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ วันที่ 10 ธันวาคม 2556 บริษัท ท. นัดนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ต่อจำเลยในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 วันที่ 20 ธันวาคม 2556 บริษัท อ. อนุมัติแบบเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ วันที่ 24 กันยายน 2557 คณะกรรมการตรวจรับงานของจำเลยอนุมัติให้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องต้มน้ำร้อน วันที่ 4 ตุลาคม 2557 โจทก์เสนอราคางานติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์วงเงิน 5,880,000 บาท แก่จำเลย แบ่งการทำงานเป็น 3 งวด กำหนดการติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์แล้วเสร็จส่งมอบในงวดที่ 2 และกำหนดการทดสอบกระบวนการทำงานแล้วเสร็จในงวดที่ 3 วันที่ 20 ตุลาคม 2557 จำเลยสั่งซื้อเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมติดตั้งวงเงิน 5,880,000 บาท จากโจทก์ วันที่ 8 ธันวาคม 2557 จำเลยส่งมอบพื้นที่ทำงานติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ วันที่ 17 ธันวาคม 2557 โจทก์และจำเลยทำหนังสือยืนยันการจ้างติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ กำหนดระยะเวลาเริ่มทำงานในวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ส่งมอบงานจ้างทั้งหมดในวันที่ 30 มกราคม 2558 กำหนดให้โจทก์มอบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา และหลักประกันความรับผิดชอบของงานก่อสร้างออกโดยธนาคารมีมูลค่าร้อยละ 10 ของราคาค่าก่อสร้างแก่จำเลย และกำหนดชำระเงินค่าก่อสร้างแก่โจทก์ไม่เกินร้อยละ 60 หรือน้อยกว่า โดยต้องมีการลงนามในหนังสือว่าจ้างภายหลัง หากโจทก์ดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนดยินยอมชำระค่าปรับอัตราร้อยละ 0.2 ของมูลค่าสัญญาต่อวัน บริษัท ท. ได้ผลิตและดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำส่งมอบให้แก่จำเลยในนามของโจทก์ที่โรงงานเรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระค่าจ้างให้แก่บริษัท ท. บริษัท ท. จึงฟ้องเรียกค่าจ้างที่ค้างชำระจากโจทก์ ภายหลังจากศาลทำการไกล่เกลี่ยแล้วโจทก์กับบริษัท ท. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ตกลงชำระค่าจ้างที่ค้างชำระให้แก่บริษัท ท. และบริษัท ท. ต้องดำเนินการออกหนังสือรับรองการผลิต จัดทำเอกสารคู่มือการใช้งาน การตรวจสอบ การบำรุงรักษา จัดทำรายงานคู่มือการผลิต การตรวจสอบ และการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดไปยื่นต่อสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้จำเลยสามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำดังกล่าวได้ บริษัท ท. ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวไปยื่นต่อสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย และส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 โจทก์จึงได้ชำระค่าจ้างให้แก่บริษัท ท. จำเลยต้องชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระในงวดงานที่ 2 จำนวน 1,887,480 บาท งวดที่ 3 จำนวน 629,160 บาท และคืนเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยหักไว้ร้อยละ 10 ของค่าจ้างงวดที่ 1 จำนวน 352,800 บาท และค่าธรรมเนียมการออกหนังสือคืนประกัน 23,520 บาท รวมเป็นเงิน 2,892,960 บาท ให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า ตามสัญญาไม่มีข้อตกลงให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แก่จำเลย เห็นว่า แม้ตามหนังสือยืนยันการจ้างติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ และตามร่างสัญญาที่จำเลยส่งไปเพื่อให้โจทก์ลงนามจะไม่มีข้อตกลงที่ระบุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ แต่คู่สัญญายังอาจมีข้อตกลงต่างหากที่ไม่ปรากฏในสัญญาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามที่โจทก์เสนอราคางานติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์วงเงิน 5,880,000 บาท แก่จำเลย โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 งวด กำหนดการติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ให้แล้วเสร็จและส่งมอบในงวดที่ 2 ส่วนการส่งงานรับจ้างงวดที่ 3 เป็นการทดสอบกระบวนการทำงานของเครื่องกำเนิดไอน้ำที่โจทก์ติดตั้ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีมูลค่าสัญญาสูง ไม่เชื่อว่าจำเลยต้องการเพียงจ้างโจทก์ซื้อและติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำเท่านั้น แต่การว่าจ้างติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำนั้นต้องสามารถใช้งานได้ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และภาชนะรับแรงดันในโรงงาน พ.ศ.2549 ข้อ 3 (3) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิตประกอบ ดัดแปลง หรือสร้างหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนหรือภาชนะรับแรงดันต้องปฏิบัติจัดทำรายงานข้อมูลการผลิต การตรวจสอบ และการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งในเรื่องนี้นายเซียว กรรมการโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า การไม่ส่งเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์แก่จำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถใช้งานเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ได้ตามกฎหมาย ทั้งการที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ท. โดยยอมชำระเงินค่าจ้างที่ค้างให้ เมื่อบริษัทดังกล่าวดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ต่อสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลแสดงให้เห็นว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างติดตั้งเครื่องกำเนิดไอน้ำระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงโดยปริยายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์แก่จำเลย ตามข้อบังคับในกฎกระทรวงดังกล่าว จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 แต่โจทก์เพิกเฉย การที่โจทก์มีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ส่งมอบให้ตามกำหนด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ระบุในคำพิพากษาว่า หนังสือที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยเครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์ เป็นเอกสารหมาย จ.19 ซึ่งที่ถูกคือเอกสารหมาย ล.19 นั้น ถือเป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย มิใช่เป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนตามที่โจทก์ฏีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปว่า ค่าปรับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาจำเลยจะมีสิทธิคิดเบี้ยปรับได้ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาค่าจ้างต่อวันนับแต่วันที่จำเลยถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติผิดสัญญาไม่ส่งมอบงานงวดสุดท้ายแก่จำเลย แต่ก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หากเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ซึ่งเมื่อคิดคำนวณระยะเวลาจากวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ส่งมอบเอกสารรับรองความปลอดภัยการใช้เครื่องกำเนิดไอน้ำพร้อมอุปกรณ์จนถึงวันฟ้องเป็นเวลาถึง 402 วัน แต่เมื่อพิจารณาถึงผลงานของโจทก์และมูลค่าของสัญญาแล้ว เห็นควรกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยเป็นเงิน 800,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ซึ่งเมื่อนำเงินค่าปรับที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยหักออกจากค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระให้แก่โจทก์สำหรับงานงวดที่ 2 และที่ 3 รวม 2,516,640 บาท เงินค่าประกันผลงานที่จำเลยหักออกจากเงินค่าจ้างงวดงานที่ 1 จำนวน 352,800 บาท ที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ และเงินค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันธนาคาร 23,520 บาท ที่จำเลยต้องชำระคืนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยคงรับผิดชำระเงินให้โจทก์เพียง 2,092,960 บาท พร้อมดอกเบี้ย
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และกรณีหนี้เงิน ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,092,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2560 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ