โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ 2478 มาตรา 4, 5, 10, 12, 15 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ 2558 มาตรา 34, 51 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 มาตรา 5, 9, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 (2) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมเล่นการพนัน จำคุก 1 เดือน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก 1 เดือน จำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมเล่นการพนัน จำคุก 1 เดือน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก 1 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมเล่นการพนัน จำคุก 15 วัน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก 15 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน 45 วัน จำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมเล่นการพนัน จำคุก 15 วัน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำคุก 15 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน 45 วัน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันไฮโลว์ และร่วมเล่นพนันไฮโลว์แทงพนันเอาทรัพย์สินกัน และมีจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 กับพวกที่หลบหนีร่วมเล่นการพนันด้วย ถือว่ามีผู้ร่วมเล่นพนันได้เสียจำนวนมาก นับว่าเป็นการเล่นพนันวงใหญ่ เป็นการก่อให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข อันเป็นบ่อเกิดของปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวตามที่กล่าวอ้างมาในฎีกาก็ตามกรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกหรือรอการกำหนดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นกักขังแทน
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34, 51 ตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้พิพากษาปรับบทความผิดจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 ในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ และความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน ความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 มีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน อีกทั้งจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและฐานร่วมเล่นการพนันตามพระราชบัญญัติการพนันก็เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 เมื่อลงโทษบทหนักตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 21 มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34, 51 ด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 เดือน รวม 2 กระทง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 15 วัน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 30 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นกักขังแทน มีกำหนด 30 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4