โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 442,141.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 419,422.51 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงิน 94,000 บาท ให้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 419,422.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงิน 94,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ชำระเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ไปหักออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริโภคและเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จะคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ เพื่อใช้ในกิจการฟาร์มไก่ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน ในอัตราค่าไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง ซึ่งมีกระแสไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างรวมเกิน 30 กิโลวัตต์ และจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าไฟฟ้าปรับปรุงมาตรวัดไฟฟ้าคลาดเคลื่อนให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบแจ้งหนี้ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ภายในวงเงิน 30,000 บาท ภายหลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 ใช้กระแสไฟฟ้าตามสัญญาเรื่อยมา ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าการประมวลผลจดหน่วยพิมพ์บิลเพื่อเรียกเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 มีความคลาดเคลื่อน โดยเป็นผลสืบเนื่องจากในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2554 มีการตัดฝากมิเตอร์เพื่อใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างรวมไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ ซึ่งไม่มีการนำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าคำนวณรวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้า และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์ จำเลยที่ 1 ใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 แต่โจทก์มิได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 มาคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ คิดเป็นเงินส่วนที่ขาดไป 419,422.51 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ต่อสู้ปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 มีกำหนดอายุความ 2 ปี และค่ากระแสไฟฟ้าเดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในเดือนเมษายน 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 ตามลำดับ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งการที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดจากเหตุที่โจทก์พบการประมวลผลจดหน่วยพิมพ์บิลผิดพลาดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ด้วย คดีจึงขาดอายุความเช่นเดียวกัน ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้ว และเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว และจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ และปัญหาเรื่องอายุความเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไปเสียเลย โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างเดิมรวมเกิน 30 กิโลวัตต์ เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างรวมไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ ในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่มีการนำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้นด้วย และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์ จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบเรื่องทำให้มิได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 มาคิดคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง คิดเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 419,422.51 บาท แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่โจทก์เรียกร้องนี้ จะมิได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 แผ่นที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องขอต่อโจทก์เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าและขอให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2554 โดยหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ร้องขอต่อโจทก์มีข้อความระบุทำนองว่า เนื่องจากฟาร์มไก่ของจำเลยที่ 1 หยุดพักในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะเกิดโรคระบาด ทางกรมปศุสัตว์จึงแจ้งให้พักฟาร์มเลี้ยงไว้อย่างน้อยสองเดือน และเมื่อนำไก่มาเลี้ยงได้แล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป ข้อความตามหนังสือดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมเมื่อใดแล้ว จำเลยที่ 1 จะเป็นฝ่ายแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ด้วย การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยเสียไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ จนเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หากแต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ตรวจพบการประมวลผลจดหน่วยพิมพ์บิลผิดพลาดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป และเมื่อนับถึงวันที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้อง คือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงิน 419,422.51 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไข และรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 419,422.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ให้นำเงิน 94,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ชำระเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ไปหักออกจากดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ