โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่สิบหกจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 71108 ประเภทภาระจำยอม 15 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม 2536 ครั้งที่ 2 วันที่ 18 มกราคม 2537 ครั้งที่ 3 วันที่ 18 มกราคม 2537 ครั้งที่ 4 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 9 โฉนด ครั้งที่ 5 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 6 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 6 โฉนด ครั้งที่ 7 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 7 โฉนด ครั้งที่ 8 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 9 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 9 โฉนด ครั้งที่ 10 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 11 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 6 โฉนด ครั้งที่ 12 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 7 โฉนด ครั้งที่ 13 วันที่ 23 มกราคม 2537 ครั้งที่ 14 วันที่ 18 มีนาคม 2537 และครั้งที่ 15 วันที่ 10 มีนาคม 2538 หากจำเลยทั้งสี่สิบหกไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนภาระจำยอม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่สิบหก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 14 และที่ 45 ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 31 ที่ 33 ที่ 35 ถึงที่ 39 ที่ 41 ถึงที่ 44 และที่ 46 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ให้การขอให้ยกฟ้อง แต่หลังจากศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ว จำเลยที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ขอถอนคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 44 และที่ 46 จดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 71108 ประเภทภาระจำยอม จำนวน 15 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 2 ธันวาคม 2536 ครั้งที่ 2 วันที่ 18 มกราคม 2537 ครั้งที่ 3 วันที่ 18 มกราคม 2537 ครั้งที่ 4 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 9 โฉนด ครั้งที่ 5 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 6 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 6 โฉนด ครั้งที่ 7 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 7 โฉนด ครั้งที่ 8 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 9 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 9 โฉนด ครั้งที่ 10 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 8 โฉนด ครั้งที่ 11 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 6 โฉนด ครั้งที่ 12 วันที่ 26 มกราคม 2537 รวม 7 โฉนด ครั้งที่ 13 วันที่ 27 มกราคม 2537 ครั้งที่ 14 วันที่ 18 มีนาคม 2537 ครั้งที่ 15 วันที่ 10 มีนาคม 2537 เฉพาะในส่วนของที่ดินสามยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และที่ 15 ถึงที่ 44 และที่ 46 ยกเว้นที่ดินสามยทรัพย์ของจำเลยที่ 14 และที่ 45 ซึ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้อง หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และที่ 15 ถึงที่ 44 และที่ 46 ไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนภาระจำยอม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และที่ 15 ถึงที่ 44 และที่ 46 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 71108 เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 9181, 73391, 73398, 68109,183230,183231, 183232, 183233, 183234, 183235, 183236, 73392, 73393 และ 73394 คำขออื่นให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 และนัดสืบพยานจำเลยที่ 7 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ในวันที่ 26 และ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานดังกล่าวให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลทราบ ต่อมามีการสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน" การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 แล้วนัดฟังคำพิพากษาไปโดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความที่มิได้มาศาลในวันที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานทราบ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยอื่นที่ไม่ได้มาศาลในวันกำหนดนัดสืบพยานขาดนัดยื่นคำให้การแล้วก็ตาม เพราะจำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การนี้ยังคงมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ เพียงแต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลทราบและต่อมามีการสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาโดยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การนัดสืบพยานเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การนัดสืบพยานเป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 7 และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่