โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 20, 22, 23, 24, 31 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันที่ 26 พฤษภาคม 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และวันที่ 12 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งออกให้แก่นายวิทยา มาลัย ผู้เสียหายเพื่อใช้เบิกถอนเงินสดไปโดยทุจริต แล้วจำเลยใช้บัตรดังกล่าวในแต่ละครั้งที่จำเลยลักไปเบิกถอนเงินจำนวน 3,000 บาท 1,300 บาท 1,500 บาท 2,500 บาท 5,000 บาท 3,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับรวมจำนวนเงิน 18,300 บาท จากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของผู้เสียหายโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 335, 90, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 335 (1) รวม 7 กระทง การกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นเบิกถอนเงินสดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินถึง 7 ครั้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการลงโทษสถานเบาและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เสียหายไปเบิกถอนเงินหลายครั้งรวมจำนวน 18,300 บาท แต่เงินดังกล่าวเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก ประกอบกับผู้เสียหายเป็นอาของภริยาจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดต่อวงศ์ญาติอีกทั้งหลายเกิดเหตุจำเลยใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว และผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยอีกต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุอันควรให้ความปรานีจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง การที่จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติแต่ละครั้งนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งดังกล่าวจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นเบิกถอนเงินสดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 334, 335 (1) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน รวม 14 กระทง แต่คงลงโทษจำเลยได้เพียง 7 กระทง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 7 กระทง ปรับ 42,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 21,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1