คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสอง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง โดยตามสัญญาดังกล่าว ข้อ 1 ถึงข้อ 3 มีใจความว่า โจทก์ตกลงมอบที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการตาลคู่การ์เด้นบีชให้แก่จำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองตกลงร่วมกันจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยการผ่อนชำระงวดละปี ไม่น้อยกว่าปีละ 300,000 บาท จนกว่าจะครบถ้วนภายในกำหนด11 ปี นับแต่วันทำสัญญา (ทำสัญญาวันที่ 26 มกราคม 2538) ด้วยวิธีนำเงินไปวางต่อศาลเพื่อชำระให้แก่โจทก์ หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดจำเลยทั้งสองยอมมอบที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินดังกล่าวคืนโจทก์และยอมออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวทันทีโดยจะไม่รื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินใด ๆ ออกไป ทั้งไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากโจทก์... จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว 3 งวดเป็นเงินรวม 900,000 บาท สำหรับงวดที่ 4 จำเลยที่ 1 นำเงินไปวางต่อศาลเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 เพื่อชำระให้แก่โจทก์เพียง 150,000 บาท ซึ่งไม่ครบจำนวน 300,000บาทตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วดำเนินการต่อไป และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการปิดประกาศให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 จำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงขอรับเงินที่วางต่อศาลจำนวน 150,000 บาท ดังกล่าวคืนโดยอ้างว่าโจทก์ไม่ยอมรับเงินและจำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 รับเงินคืนโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบเพราะเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงตกเป็นของโจทก์นับแต่วันที่ศาลได้รับเงินไว้แล้ว การที่ศาลมีคำสั่งให้คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ชอบที่โจทก์จะบังคับคดีตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี เงินที่จำเลยที่ 1 วางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัด เมื่อจำเลยที่ 1 ขอรับคืนและศาลอนุญาตแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอน ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2542จำเลยที่ 1 นำเงินจำนวน 150,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวดที่ 4 แต่ไม่ครบจำนวน 300,000 บาท ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2542 โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำขอเนื่องจากจำเลยที่ 1 ขอประนีประนอมยอมความโดยวางเงินดังกล่าวและศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบถามคู่ความ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำขอออกหมายบังคับคดีและยื่นคำแถลงในวันนัดพร้อมต่อศาลชั้นต้นว่าประสงค์จะบังคับตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อไป ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้วดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปดำเนินการปิดประกาศให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ขอรับเงินที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำเลยทั้งสองได้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วเห็นว่า เงินจำนวน 150,000 บาทดังกล่าว เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากโจทก์ขอรับเงินดังกล่าวศาลก็ชอบที่จะจ่ายให้ไปได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ยืนยันความประสงค์ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และดำเนินการบังคับคดีจนกระทั่งจำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ทั้งระยะเวลานับแต่จำเลยที่ 1 วางเงินต่อศาลเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 รับเงินคืนไปซึ่งเป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาขอรับเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาวางต่อศาลพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิขอรับเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาลได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์