โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 11, 54, 55, 69, 72 ตรี, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 26/4, 26/5, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารออกไปจากเขตป่า ตลอดจนให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าออกไปจากเขตป่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม 1,052,168 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 14), 31 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถาง ยึดถือ ครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี (ที่ถูก รวมจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 7 ปี) ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน ริบไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป รถยนต์ เครื่องตัดหญ้า มีด ที่ขุดดิน จอบ เลื่อยมือ หน้ากากแบบใช้คลุมใบหน้า หมวกไม้ไผ่ ถุงมือยาง ของกลาง แต่ให้คืนรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางแก่เจ้าของ ให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารออกไปจากเขตป่า ตลอดจนให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าออกไปจากเขตป่า และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 1,052,168 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ เนื่องจากศาลมิได้ปรับจึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ คำขอส่วนนี้และคำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเป็นเงิน 741,625 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เรือนจำกลางลำปางแจ้งต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกขังอยู่ที่เรือนจำดังกล่าวถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โจทก์รับว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) และเมื่อสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้ว คำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นายศุภวิชญ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลป. 17 (แม่มอกตอนขุน) รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีกลุ่มบุคคลร่วมกันบุกรุกป่าที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จึงร่วมกับพวกไปที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวอยู่บริเวณหน้ากระท่อมในที่เกิดเหตุ โดยนายสายัญ พวกของจำเลยทั้งสองหลบหนีไปได้ พบไม้แดงอันยังมิได้แปรรูปกองอยู่ข้างกระท่อม และบริเวณรอบกระท่อมมีพื้นที่ถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา มีร่องรอยการตัดโค่นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณด้วยเลื่อยมือ ไม้ที่ถูกตัดโค่นเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เป็นไม้แดง 10 ท่อน ปริมาตร 0.2 ลูกบาศก์เมตร ไม้มะเกิ้ม 18 ท่อน ปริมาตร 0.94 ลูกบาศก์เมตร ไม้เหียง 52 ท่อน ปริมาตร 2.99 ลูกบาศก์เมตร ไม้มะม่วงป่า 4 ท่อน ปริมาตร 0.1 ลูกบาศก์เมตร ไม้ขมิ้นดำ 4 ท่อน ปริมาตร 0.1 ลูกบาศก์เมตร ไม้ตุ้มแต๋น 3 ท่อน ปริมาตร 0.25 ลูกบาศก์เมตร ไม้ประดู่ 9 ท่อน ปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร ไม้ตีนนก 2 ท่อน ปริมาตร 0.09 ลูกบาศก์เมตร ไม้รกฟ้า 12 ท่อน ปริมาตร 0.56 ลูกบาศก์เมตร ไม้รัง 3 ท่อน ปริมาตร 0.11 ลูกบาศก์เมตร ไม้เปา 3 ท่อน ปริมาตร 0.14 ลูกบาศก์เมตร ไม้พะยอม 5 ท่อน ปริมาตร 0.34 ลูกบาศก์เมตร ไม้ลำไยป่า 1 ท่อน ปริมาตร 0.3 ลูกบาศก์เมตร และไม้เต็ง 4 ท่อน ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร รวม 130 ท่อน ปริมาตรรวม 6.35 ลูกบาศก์เมตร เจ้าหน้าที่ตรวจยึดเลื่อยมือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์การกระทำความผิดอื่น ๆ ในกระท่อมที่เกิดเหตุ จึงจับกุมจำเลยทั้งสองโดยแจ้งข้อหาว่าร่วมกันทำไม้หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือ ครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่ามารับซื้อกล้วยบริเวณดังกล่าว ไม่ทราบว่ากระท่อมและที่ดินที่เกิดเหตุเป็นของผู้ใด ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มารับจ้างจำเลยที่ 1 ตัดหญ้าและทำถนน พนักงานสอบสวนส่งหมอนที่พบในกระท่อมที่เกิดเหตุไปตรวจดีเอ็นเอ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 และพนักงานสอบสวนยังพบขวดยาแก้ไอและถุงพลาสติกใส่ยาลดความดันโลหิตของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสภาพเก่ามีฝุ่นเกาะแขวนอยู่ข้างฝาในกระท่อมดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยใช้เครื่องมือตัด และร่วมกันบุกรุก ก่นสร้าง ยึดถือ ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นในที่ดินท้องที่บริเวณป่าดอยเขาหนัง ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่มอก และจำเลยทั้งสองมีนายธัชชัย ช่างรังวัด เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับคำร้องจากสำนักจัดหาที่ดินของกรมชลประทานซึ่งมีโครงการจะสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 พยานไปดำเนินการรังวัดที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินของนายสายัญ นายสายัญนำชี้แนวเขตที่ดินที่แจ้งการครอบครองและลงลายมือชื่อไว้ พื้นที่ที่นายสายัญแจ้งการครอบครองมีเพิงพักปลูกอาศัยและตรงกับพื้นที่เกิดเหตุแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเดิมเป็นของนายสายัญ แต่เมื่อพิจารณาสำเนาคำร้องขอรังวัดสำรวจในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นเรื่องที่นายสายัญยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ก่อนเกิดเหตุปีเศษ และได้ความจากนายสิทธิชัย หัวหน้างานจัดหาที่ดินและรับผิดชอบโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก พยานจำเลยว่า นายสายัญแจ้งขอสำรวจรังวัดโดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ มาแสดงต่อพยาน พยานไม่ทราบว่าชาวบ้านที่มาแจ้งการครอบครองที่ดินจะมีการครอบครองจริงหรือไม่ และจะมีผู้อื่นครอบครองแทนหรือไม่ อีกทั้งยังได้ความจากนายบุญลือ อดีตหัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน สำนักงานชลประทานที่ 2 พยานจำเลยว่า พื้นที่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งผาก กรมชลประทานยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และกรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ในการสำรวจและการให้ชาวบ้านมายื่นคำร้องเพื่อสำรวจที่ดินที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินทดแทน ไม่ใช่เป็นการรับรองสิทธิให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น การที่กรมชลประทานให้ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบกับการสร้างอ่างเก็บน้ำแจ้งการครอบครองก็เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้เท่านั้น แต่ที่ดินที่ทำการสำรวจยังเป็นที่ดินที่อยู่ในความดูแลรักษาของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่มอก การที่นายสายัญยื่นคำร้องขอรังวัดสำรวจแปลงที่ดินพื้นที่ที่เกิดเหตุจึงเป็นเพียงให้สิทธิแก่นายสายัญที่ครอบครองพื้นที่ที่เกิดเหตุที่จะได้รับค่าทดแทนจากกรมชลประทาน ทั้งการที่นายสายัญยื่นคำร้องขอรังวัดสำรวจแปลงที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ภายหลังจากนั้นนายสายัญอาจขายที่ดินพื้นที่เกิดเหตุให้แก่ผู้อื่นไปแล้วก็เป็นได้ เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสวนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพื้นที่เกิดเหตุมานานแล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 2 รับว่าที่เกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 ตนเพียงแต่เป็นผู้รับจ้างของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อเดือนตุลาคม 2561 จำเลยที่ 2 รับจ้างตัดหญ้า ปลูกต้นไม้ และทำทางให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ข้าง ๆ พื้นที่เกิดเหตุ บางครั้งจะพักหลับนอนที่กระท่อมที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ให้การในวันที่ 18 มกราคม 2562 หลังเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งเป็นการให้การในทันทีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ยากที่จำเลยที่ 2 จะปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาเองเพื่อปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ทั้งยังมีรายละเอียดตรงกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นจับกุม แม้จะถือว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่ก็มิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 2 ประสบมาจึงมีเหตุผลที่จะรับฟังเป็นความจริง แม้ต่อมาภายหลังเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 จำเลยที่ 2 ขอให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า ความจริงที่ดินที่เกิดเหตุเป็นของนายสายัญ เนื่องจากวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนายสายัญวิ่งหลบหนีไป จำเลยที่ 2 กลัวความผิด จึงให้การไปว่าที่ดินและกระท่อมดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีโอกาสไตร่ตรองทบทวนและหาข้อแก้ตัวให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด คำให้การเพิ่มเติมของจำเลยที่ 2 ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้โจทก์ยังมีสำเนาสมุดบันทึกการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนให้จำเลยที่ 2 ดู จำเลยที่ 2 ให้การรับว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อรับรองไว้ ประกอบกับเมื่อร้อยตำรวจเอกพชรพนักงานสอบสวนส่งหมอนที่พบในกระท่อมที่เกิดเหตุไปตรวจดีเอ็นเอ พบดีเอ็นเอของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พื้นที่ที่เกิดเหตุแทนนายสายัญแล้วทำประโยชน์ด้วยการโค่นไม้ใหญ่ที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีร่องรอยการตัดโค่นไม้ใหญ่ด้วยเลื่อยมือ ทั้งยังพบเลื่อย 2 ปื้น ในกระท่อมที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ที่ใต้ถุนกระท่อมที่เกิดเหตุยังพบกล้าพันธุ์ไม้จำพวกมะขาม บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการทำไม้หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามโดยใช้เครื่องมือตัดเพื่อปลูกไม้อื่น และร่วมกันบุกรุก ก่นสร้าง ยึดถือครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ สามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ (ที่ถูก ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 และในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และกรณีหนี้เงิน ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 741,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมป่าไม้ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ามีการปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ โทษในส่วนของจำเลยที่ 1 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ