โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 49277 และโฉนดเลขที่ 52337 พร้อมบ้านเลขที่ 30/73 และที่ดินโฉนดเลขที่ 28351 และโฉนดเลขที่ 28352 พร้อมบ้านเลขที่ 9/222 ให้แก่โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ถ้าแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งคนละครึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 5,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 49277 และ 52337 พร้อมบ้านเลขที่ 30/73 โดยให้โจทก์และจำเลยประมูลราคากันเองก่อน หากจำเลยเป็นผู้ประมูลได้ ให้หักชำระเงิน 1,500,000 บาท จากราคาที่ได้ไว้เป็นส่วนของจำเลย แล้วชำระเงินกึ่งหนึ่งของราคาที่เหลือแก่โจทก์ หากโจทก์ประมูลได้ ให้ชำระเงิน 1,500,000 บาท และอีกกึ่งหนึ่งของราคาประมูลที่หักด้วยจำนวนเงิน 1,500,000 บาท แล้วแก่จำเลย หากไม่อาจใช้วิธีการประมูลราคาในระหว่างกันเองได้ ให้นำที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาด และหักเงินได้จากการขายทอดตลาด 1,500,000 บาท ให้แก่จำเลย แล้วแบ่งส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 28351 และ 28352 พร้อมบ้านเลขที่ 9/222 โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์และจำเลยที่จะว่ากล่าวกันเป็นคดีใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว สำหรับประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทหรือชดใช้เงินแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส การอยู่กินแม้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในทางทรัพย์สินที่ทำมาหากินได้ดังเช่นสินสมรสอย่างสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันย่อมเป็นทรัพย์สินรวมหรือเจ้าของรวม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยฝ่ายเดียวเป็นผู้อุปการะโจทก์ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ถือว่าอยู่กินกันฉันสามีภริยา ฟ้องโจทก์เป็นเท็จและใช้สิทธิไม่สุจริต ล้วนเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ คดีคงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาด้วยใจสมัคร แม้จะไม่มีการสู่ขอ ไม่มีสินสอดทองหมั้น ไม่ได้จัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณี และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในทางทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นสินสมรสเช่นอย่างสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการอยู่ร่วมกันเช่นนี้มิใช่เป็นเหมือนหุ้นส่วนและไม่เข้าลักษณะของบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท เนื่องเพราะมิใช่ข้อตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหามาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยานั้น ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือเจ้าของรวมซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 2 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม มาตรา 1357 ที่บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน จำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 4 แปลง และปลูกสร้างบ้านเลขที่ 9/222 โดยจำเลยกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ อ. และสถาบันการเงินอื่น ผ่อนชำระเป็นรายงวดโดยหักเงินจากเงินเดือนของจำเลยและนำเงินรายได้พิเศษจากการประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ไปผ่อนชำระจนเสร็จสิ้น โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด ข้อนี้โจทก์และจำเลยต่างเบิกความยันคำกันอยู่ ยากที่จะเชื่อไปทางหนึ่งทางใด จึงจำต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง โจทก์อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานประกอบพยานเอกสารว่า เมื่อประมาณปี 2546 ถึง 2547 โจทก์และจำเลยตกลงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แล้วอยู่ร่วมกันโดยต่างฝ่ายต่างช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ทั้งร่วมกันเปิดกิจการร้านสะดวกซื้อที่ชั้น 1 อาคาร ท. แต่ทำได้ 1 ปี ต้องปิดกิจการลงเพราะขาดทุน และจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน โดยโจทก์ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อผ่อนชำระเสร็จจำเลยโอนใส่ชื่อโจทก์และเคยคิดสร้างหอพักเพื่อหารายได้ จึงดำเนินการขออนุญาตสร้างหอพักต่อเทศบาลตำบล ฟ. แต่ต้องใช้เงินลงทุนมากจึงยังไม่ได้ก่อสร้าง กับโจทก์และจำเลยปรึกษากันว่าจะย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเพื่อนของมารดาโจทก์จะขายบ้านพร้อมที่ดินราคา 1,200,000 บาท ต่อมาจึงมีการซื้อขายกัน โจทก์เป็นผู้จ่ายค่ามัดจำเพื่อทำสัญญาซื้อขายบ้าน โจทก์เข้าไปปรับปรุงบ้านใหม่ทั้งหมดโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เนื่องจากจำเลยรับราชการสามารถกู้ยืมจากกองทุนได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 28351 และ 28352 เพื่อใช้พักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเรือนหอและแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากสร้างบ้านเสร็จ โดยจำเลยกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาชำระค่าที่ดินและค่าปลูกสร้างบ้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อความในเอกสารข้างต้นประกอบถ้อยคำที่สื่อสัมพันธ์รักระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง จึงน่าเชื่อว่าโจทก์เบิกความไปตามความจริง ส่วนจำเลยอ้างตนเองเบิกความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 49277, 52337, 28351 และ 28352 ที่พิพาทจำเลยเป็นผู้ซื้อโดยใช้เงินของตนเองและกู้ยืมจากสหกรณ์ อ. ธนาคาร ก. ธนาคาร ร. และธนาคาร อ. 2 สัญญา ผ่อนชำระด้วยการหักชำระจากบัญชี โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการซื้อทรัพย์พิพาทแต่อย่างใด แต่เบิกความยอมรับว่า เมื่อจำเลยไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับโจทก์ซึ่งเคยคบหากันและอาศัยอยู่กินที่บ้านเลขที่ 9/222 จำเลยกับโจทก์ตกลงเลิกรากันประมาณปี 2555 และเมื่อปี 2548 โจทก์ฝากเงินเข้าบัญชีจำเลย 300,000 บาท เป็นค่างวดที่เหลือจากการกู้ยืมเงินธนาคาร ก. เจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ระหว่างอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2558 ทรัพย์พิพาทและรถยนต์ต่างช่วยเหลือเจือจุนกันให้ได้มาระหว่างช่วงเวลาที่โจทก์และจำเลยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ยิ่งพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่โจทก์เป็นผู้ดูแล ติดต่อราชการ ปรับปรุงอาคาร ควบคุมดูแลการก่อสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทพักอาศัยและติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อขอสาธารณูปโภค แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยวางใจให้โจทก์ในฐานะสามีเป็นผู้ดำเนินการแทน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เยี่ยงนี้ เมื่อจำเลยมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำให้การต่อสู้คดี แต่จำเลยไม่อาจนำสืบได้ตามภาระหน้าที่ จำเลยจึงต้องแพ้คดี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงพร้อมบ้านบนที่ดินและมีส่วนเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 จึงต้องพิพากษาให้แบ่งกันคนละครึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 และ 1364 ตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ โดยให้หักเงินที่จำเลยต้องชำระแก่สถาบันการเงินจำนวน 5,500,000 บาท แก่จำเลยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยคือที่ดินโฉนดเลขที่ 49277 และ 52337 พร้อมบ้านเลขที่ 30/73 เพียง 2 แปลง โดยให้หักชำระเงิน 1,500,000 บาท จากราคาที่ได้ไว้เป็นส่วนของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อยพลความ หาใช่ข้อสาระสำคัญอันจะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เห็นสมควรวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์และจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 49277 และ 52337 พร้อมบ้านเลขที่ 30/73 และที่ดินโฉนดเลขที่ 28351 และ 28352 พร้อมบ้านเลขที่ 9/222 โดยให้โจทก์และจำเลยประมูลราคากันเองก่อน หากจำเลยเป็นผู้ประมูลได้ ให้หักชำระเงิน 1,500,000 บาท และ 5,500,000 บาท จากราคาที่ได้ไว้เป็นส่วนของจำเลย แล้วชำระเงินกึ่งหนึ่งของราคาที่เหลือแก่โจทก์ หากโจทก์ประมูลได้ให้ชำระเงิน 1,500,000 บาท และ 5,500,000 บาท และอีกกึ่งหนึ่งของราคาประมูลที่หักด้วยจำนวนเงิน 1,500,000 บาท และ 5,500,000 บาท แล้วแก่จำเลย หากไม่อาจใช้วิธีการประมูลราคาในระหว่างกันเองได้ ให้นำที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาด และหักเงินได้จากการขายทอดตลาด 1,500,000 บาท และ 5,500,000 บาท ให้แก่จำเลย แล้วแบ่งส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์และจำเลยคนละครึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ