โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 15,375,308.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 12,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน 1,050,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความคนละ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัท ท. 400,000 หุ้น เป็นเงิน 12,000,000 บาท กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขาย ต่อมาโจทก์โอนเงินชำระค่าหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 จำนวน 1,200,000 บาท และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 จำนวน 10,800,000 บาท ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2557 โจทก์ได้รับใบหุ้นของบริษัท ท. หมายเลขใบหุ้น 9334001 ถึง 9734000 จำนวน 400,000 หุ้น ใบหุ้นระบุชื่อนายฐิติ เป็นผู้ถือหุ้น และนายฐิติลงลายมือชื่อสลักหลังใบหุ้น สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า ใบหุ้นของบริษัท ท. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็นใบหุ้นปลอมนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า สัญญาซื้อขายหุ้นไม่ได้ทำตามแบบของกฎหมาย ตราสารการโอนหุ้นไม่ได้แถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งต้องโอนกัน การโอนหุ้นจึงตกเป็นโมฆะ เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับจำเลยที่ 3 และได้รับโอนหุ้นตามใบหุ้นอันเป็นฉบับที่แท้จริงแล้ว เพราะหากใบหุ้นดังกล่าวเป็นใบหุ้นปลอม ย่อมไม่มีกรณีที่จะต้องตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามแบบดังที่โจทก์อ้าง และเมื่อมีการชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดประเด็นว่าใบหุ้นของบริษัท ท. ฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็นใบหุ้นปลอมหรือไม่ ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ใบหุ้นเป็นใบหุ้นปลอม จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายหุ้นไม่ได้ระบุหมายเลขหุ้นที่จะโอนแก่กัน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 เห็นว่า สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จำนวน 400,000 หุ้น จากจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 12,000,000 บาท ในสัญญาข้อ 3. ระบุว่า ผู้รับโอนหุ้นต้องวางเงินประกันจำนวน 10% ของมูลค่าหุ้นที่โอนภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ข้อ 4. ระบุว่า เงินส่วนที่เหลือ 90% ของมูลค่าหุ้นที่โอนจะต้องชำระให้ผู้โอนภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 และในข้อ 5. ระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการหลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าว หาได้บัญญัติว่าถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายกัน ก็หาตกเป็นโมฆะไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมามีว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเพราะถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงฉ้อฉลโจทก์ให้หลงเชื่อในข้อมูลที่จำเลยทั้งสามมีส่วนรู้เห็นและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยหลอกลวงโจทก์ว่าหุ้นของบริษัท ท. กำลังจะจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นปี 2558 ซึ่งจะทำให้หุ้นของบริษัทดังกล่าวมีมูลค่าสูงขึ้นและได้กำไรสูง โดยจำเลยทั้งสามทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัท ท. ไม่มีความพร้อมและไม่มีความประสงค์จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด โจทก์หลงเชื่อจึงตกลงซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าว เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ซื้อหุ้นของบริษัท ท. เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ภาระในการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำการโดยใช้กลฉ้อฉลโจทก์ แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบคงมีแต่ตัวโจทก์เป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2557 จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 มาแนะนำให้โจทก์รู้จัก และชักชวนให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัท ท. ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้มอบนามบัตรของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ 2 ใบ อ้างว่าจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท ว. และเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทหลักทรัพย์ อ. แต่กลับได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งสมัครเป็นพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ อ. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 และได้รับมอบนามบัตรจากบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 อันเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาพบโจทก์และมอบนามบัตรให้แก่โจทก์ ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับจำเลยที่ 3 แล้วเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความว่า จำเลยที่ 1 เคยพาจำเลยที่ 2 ไปพบโจทก์เพียง 1 ครั้ง ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ทำการซื้อหุ้นพิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ที่เบิกความว่า เมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 รู้จักกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์เป็นนักลงทุนและนักธุรกิจมากมายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนนอกจากนามบัตรดังกล่าว ประกอบกับได้ความว่า โจทก์ประกอบกิจการเป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ มีประสบการณ์ในการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์มาเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ร. ซึ่งมีแผนที่จะนำบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2558 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวปรากฏในสำเนารายงานการประจำปี 2556 และปี 2557 และสำเนารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ของบริษัท ร. ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย จึงเชื่อว่าโจทก์น่าจะทราบข้อมูลดังกล่าวเป็นอย่างดี ที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมขัดแย้งกับที่โจทก์เคยเบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1779/2560 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงไม่น่าเชื่อถือ ตามรูปคดีจึงมีเหตุผลเชื่อว่า ก่อนที่โจทก์จะซื้อหุ้นของบริษัท ท. โจทก์จะต้องศึกษาหาข้อมูลของบริษัทนั้นเป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้นดังกล่าวและโจทก์ต้องทราบอยู่แล้วว่าบริษัท ท. มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้ตัดสินใจซื้อหุ้นพิพาท 400,000 หุ้น เป็นเงินมากถึง 12,000,000 บาท สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นจึงเกิดจากความสมัครใจของโจทก์เอง ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาพบโจทก์และหลอกลวงชักชวนโจทก์ให้ซื้อหุ้นพิพาทไม่มีน้ำหนักและเหตุผลสนับสนุน พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้กลฉ้อฉลโจทก์ด้วยนั้น ก็ได้ความจากโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 ทำงานบริษัทเดียวกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ขายหุ้นให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเท่านั้น คำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าได้ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นพิพาทกับจำเลยที่ 3 จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยใช้กลฉ้อฉลโจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามจึงมิได้กระทำละเมิดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ