คดีนี้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยขับรถยนต์ส่วนบุคคลด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยจำเลยขับรถฝ่าฝืนกฎหมายขับผ่านทางแยกไปโดยไม่หยุดรถที่ป้ายหยุดและขับรถไปด้วยอัตราความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ชนรถซึ่งนายมีฮก แซ่เบ๊ ขับขี่มาเสียหายคิดเป็นเงิน 6,000 บาทนายมีฮกได้รับบาดเจ็บ 7 วัน ฟันหน้าล่างซ้ายหัก 1 ซี่ และเด็กชายฮวงเจ็ง แซ่เบ๊ ซึ่งนั่งมาด้วยบาดเจ็บ 14 วัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 31, 66 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2481 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 โดยวินิจฉัยว่า การที่นายมีฮก แซ่เบ๊ ได้รับอันตรายฟันหักยังไม่ถือว่าเป็นการเสียอวัยวะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(3) ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลย 20 วัน และปรับ 500 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 วันและปรับ 250 บาท โทษจำคุกให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การถูกกระทำร้ายถึงเสียอวัยวะที่จะถือว่าเป็นอันตรายสาหัสนั้น ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(1)(2)(3) คือ ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด เสียอวัยวะสืบพันธ์เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด จะเห็นได้ว่าอวัยวะต่าง ๆ ที่ระบุชื่อไว้นั้นล้วนแต่เป็นอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเสียไปแล้วไม่อาจเยียวยารักษา ผู้ได้รับอันตรายนั้นกลายเป็นคนพิการไป ฉะนั้น คำว่า อวัยวะอื่นใด ใน (3) ของมาตรา 297 จึงย่อมหมายความถึงอวัยวะอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้และต้องเป็นอวัยวะที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งเมื่อสูญเสียอวัยวะนั้น ๆ ไปแล้ว เป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายตกเป็นคนพิการไปด้วย เห็นว่าแม้ฟันจะเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ก็ไม่ใช่อวัยวะส่วนสำคัญและการสูญเสียฟันไปเพียง 1 ซี่นั้น มิได้ทำให้ผู้ได้รับอันตรายกลายเป็นคนพิการ อันจะเทียบได้กับการเสียอวัยวะอื่นดังที่ได้ระบุชื่อไว้ในมาตรา 297(1)(2)และ (3)
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์