โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ระหว่างพิจารณา นายสมศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำรับสารภาพของจำเลยและตามที่คู่ความแถลงรับกันต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระค่าซื้อพ่อพันธุ์โคฮินดูบราซิลจำนวน 1,000,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8076 ให้แก่นางบุญเย็น ในราคา 2,800,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 648/2561 ให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2563 แนบท้ายคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า คดีแพ่งระหว่างโจทก์ (โจทก์ร่วม) กับจำเลยซึ่งเป็นมูลเหตุให้โจทก์ร่วมร้องทุกข์และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ยกฟ้อง จึงมีผลให้โจทก์ร่วมกับจำเลยไม่มีมูลหนี้ต่อกันเท่ากับโจทก์ร่วมและจำเลยไม่เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กัน จำเลยจึงไม่อาจกระทำความผิดตามฟ้องได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมโดยไม่รับวินิจฉัยเพราะเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามนั้น เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เป็นการไม่ชอบ เพราะอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยโจทก์ร่วมโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญา เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จึงไม่อาจนำมาผูกพันกับคู่ความในคดีอาญาได้ นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อหนึ่งของโจทก์ร่วมโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ร่วมยังเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อนี้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญา เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ไม่อาจนำมาผูกพันคู่ความในคดีอาญาได้ โดยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น องค์ประกอบความผิดในเบื้องต้นต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน เมื่อต่อมาปรากฏว่าศาลฎีกาในคดีแพ่งยกฟ้องโจทก์ในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ค่าซื้อพ่อพันธุ์โคฮินดูบราซิล คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า โจทก์ร่วมมิได้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้แม้จำเลยขายที่ดินให้แก่นางบุญเย็นภายหลังโจทก์ร่วมยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง การกระทำของจำเลยย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้ และในกรณีเช่นว่านี้จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" มาใช้บังคับหาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติในการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา อันเป็นความรับผิดในทางแพ่งที่มีมูลมาจากการกระทำผิดในทางอาญาหรือความรับผิดในทางแพ่งของบุคคลใดที่ต้องอาศัยหรือเกิดจากการกระทำความผิดในทางอาญาของบุคคลนั้นที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาคดีส่วนแพ่ง แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้อันมีองค์ประกอบความผิดเบื้องต้นเป็นประการสำคัญว่าต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก่อน เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในคดีแพ่งโดยฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีแพ่ง โจทก์ร่วมและจำเลยย่อมไม่ได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน คดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่มีมูลความผิดไปด้วยในตัว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งมาวินิจฉัยในคดีอาญา อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังที่โจทก์ร่วมฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ร่วมอ้างถึงในฎีกาของโจทก์ร่วมนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน