โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำลเยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูก 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 (ที่ถูก 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 86) การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วยตนเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก ฐานใช้เอกสารราชการปลอม) ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 2 ปี ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มีกำหนดคนละ 1 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 เดือน 20 วัน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 6 เดือน ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน โดยให้กักขังจำเลยแต่ละคนในบ้านของตนเอง ทั้งกำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และห้ามออกจากบ้านพัก มีกำหนดคนละ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23, 24 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นนายหน้าหานายทุนรับจำนำรถ จำเลยที่ 3 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพขายรถยนต์ใช้แล้วและเป็นสามีจำเลยที่ 5 พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่จังหวัดลำปาง ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์ มีชื่อนายสมบูรณ์ เป็นผู้ครอบครองจากบริษัท ท. แล้วจำเลยทั้งห้าถูกร้อยตำรวจเอกภาคภูมิ กับดาบตำรวจสะอาด เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตำรวจภูธรภาค 5 จับกุมขณะพากันขับรถคันที่จำเลยที่ 1 เช่ามาจอดบริเวณลานจอดรถตลาด พร้อมยึดสำเนารายการจดทะเบียนรถปลอมเป็นของกลางนำส่งร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์ พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คดีถึงที่สุดแล้ว
ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ร้อยตำรวจเอกภาคภูมิ ดาบตำรวจสะอาด และร้อยตำรวจเอก ทรงศักดิ์พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความถึงการกระทำของจำเลยที่ 3 แต่ร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์เบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ซึ่งจัดทำในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยทั้งห้าถูกจับกุมมีใจความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 นำรถกระบะของจำเลยที่ 1 ไปจำนำนายทุนและต้องการไถ่รถคืน จึงติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ช่วยหานายทุนคนใหม่ จำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ช่วยหานายทุนอีกทอดหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปพบจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 นายทุนคนเดิมและนายทุนคนใหม่ที่เชียงใหม่ แต่นายทุนคนเดิมไม่ได้นำรถของจำเลยที่ 1 ไปด้วย นายทุนคนใหม่ไม่เห็นรถจึงไม่ยอมรับจำนำ จำเลยที่ 1 ยังคงต้องการไถ่รถของจำเลยที่ 1 คืน และนำรถยนต์ ที่เช่าจากร้าน ภ. มาขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยนำไปจำนำ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเอกสารคู่มือรถ จำเลยที่ 2 คาดคั้นจนจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นรถที่เช่ามา จึงให้จำเลยที่ 1 นำรถไปคืน จากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อกลับมาอีกว่าจะจำนำรถยนต์ ให้จำเลยที่ 2 ไปพบและบอกว่าไม่มีเอกสารคู่มือรถ จำเลยที่ 2 ปรึกษากับจำเลยที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 4 และที่ 5 บอกว่าจำนำได้โดยทำสำเนาคู่มือรถขึ้นมาใหม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เดินทางไปพบจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งห้าพากันขับรถยนต์ไปจังหวัดลำปางเพื่อหานายทุนรับจำนำรถ ระหว่างทางได้แวะที่ร้านรับถ่ายเอกสาร จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เข้าไปในร้าน แล้วจำเลยที่ 2 กับที่ 5 ร่วมกันทำปลอมรายการจดทะเบียนรถ โดยจำเลยที่ 5 สแกนภาพถ่ายรายการจดทะเบียนรถที่เก็บไว้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าโปรแกรมโฟโตชอป เพิ่มข้อมูลบางจุด ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง จำเลยที่ 2 ตรวจดูความเรียบร้อยแล้วพิมพ์ใส่กระดาษเอ 4 จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กลับมาขึ้นรถ โดยจำเลยที่ 4 นั่งรอที่เบาะคนขับ ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งหลับอยู่เบาะหลัง ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ติดต่อหานายทุนรับจำนำรถได้จึงพากันขับรถมาจอดรอที่ลานจอดรถหน้าตลาด แล้วถูกจับกุมพร้อมสำเนารายการจดทะเบียนรถปลอม จำเลยที่ 3 มิได้ถามค้านร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์เกี่ยวกับการจัดทำบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งห้า ให้ปรากฏว่ามีข้อพิรุธน่าสงสัยอย่างใด ทั้งมิได้นำสืบความไม่ถูกต้องแห่งบันทึกคำให้การเหล่านั้น โดยเฉพาะบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 3 ที่ให้การว่า จำเลยที่ 3 เดินทางมาเป็นเพื่อนจำเลยที่ 2 เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 2 ตั้งครรภ์ และระหว่างเดินทางไปกับจำเลยอื่น ๆ จำเลยที่ 3 นั่งหลับหรือไม่ก็นั่งเล่นเกมในโทรศัพท์เคลื่อนที่มิได้ร่วมรู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำผิด จึงทำให้เชื่อว่าร้อยตำรวจเอกทรงศักดิ์บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 3 ไปตามความจริงด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 3 บันทึกคำให้การของจำเลยที่ 3 ถือเป็นพยานบอกเล่าที่ต้องด้วยข้อยกเว้นให้รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 4 และที่ 5 เพื่อหานายทุนรับจำนำรถให้จำเลยที่ 1 เมื่อการเจรจาขอไถ่รถของจำเลยที่ 1 จากนายทุนคนเดิมเพื่อนำมาจำนำนายทุนคนใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ควรจะพาจำเลยที่ 2 เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ 3 ยังคงอยู่ร่วมกับจำเลยอื่น ๆ อีกต่อไป และร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ช่วยหานายทุนรับจำนำรถที่จำเลยที่ 1 เช่าจากร้าน ภ. แต่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปฏิเสธเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับรถ รวมทั้งเหตุการณ์ในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ช่วยหานายทุนรับจำนำรถที่จำเลยที่ 1 เช่าจากบริษัท ท. โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับรถเช่นเดียวกัน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กลับยินยอมช่วยหานายทุนรับจำนำรถให้ และพากันขับรถไปจังหวัดลำปางแล้วร่วมกันจัดทำสำเนารายการจดทะเบียนรถปลอม โดยจำเลยที่ 3 ให้การไว้ รับว่า จำเลยที่ 2 จะได้ค่านายหน้าจากยอดเงินที่มีการจำนำจากเจ้าของรถในอัตราร้อยละ 5 บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 รู้ว่ารถในคดีนี้ไม่สามารถนำไปจำนำโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะไม่มีรายการจดทะเบียนที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ได้อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 มิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาจึงปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่มีอำนาจแก้โทษจำเลยที่ 3 เพื่อกำหนดโทษใหม่ตามความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 4 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาพอสมควร ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน โดยให้กักขังจำเลยที่ 3 ในบ้านของตนเอง ทั้งกำหนดให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และห้ามออกจากบ้านพัก มีกำหนด 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23, 24 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5