โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 8,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 8 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของนาย ธ. กรรมการผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ในสัญญาสินเชื่อ B. (เงินกู้ระยะยาวสำหรับธุรกิจ SME ที่ประสบอุทกภัย) จำนวน 4,200,000 บาท สัญญาสินเชื่อ B. (เงินกู้เบิกเกินบัญชีสำหรับธุรกิจ SME ที่ประสบอุทกภัย) จำนวน 1,800,000 บาท และสัญญามอบสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกัน จำนวน 1,800,000 บาท ทั้งปลอมลายมือชื่อของนาย ธ.ผู้เสียหายที่ 3 ในฐานะส่วนตัว ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อ B. รวม 2 ฉบับ วงเงิน 4,200,000 บาท และวงเงิน 1,800,000 บาท ตามลำดับ หลังจากนั้นจำเลยนำสัญญาดังกล่าวทุกฉบับไปใช้อ้างแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อขอกู้ยืมเงินตามฟ้องในวันและเวลาเดียวกัน แสดงว่าแม้สัญญาดังกล่าวจะเป็นเอกสารคนละฉบับกัน แต่ก็เป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อมุ่งหมายจะให้ได้เงินจากโจทก์ร่วมเป็นหลัก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่หลายกรรมต่างกันไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมประการต่อไปว่า มีเหตุสมควรไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏว่า การที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของนาย ธ. ในสัญญาสินเชื่อ B. สัญญาค้ำประกัน และสัญญามอบสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกันตามฟ้อง จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลงเชื่อและอนุมัติปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้ไปเป็นเงินจำนวนมากถึง 6,000,000 บาท เพื่อต้องการนำเงินมาหมุนเวียนประกอบธุรกิจและใช้จ่ายภายในครอบครัว อันเป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยชำระเงินคืนให้โจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินเพียงบางส่วน ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะเงินต้นไม่รวมดอกเบี้ยพบว่ายังค้างชำระอยู่ถึง 3,400,000 บาทเศษ ดังนั้น แม้จำเลยจะแก้ฎีกาอ้างว่า จำเลยบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 จนเป็นที่พอใจ ทั้งจำเลยเจ็บป่วยเป็นโรคร้าย มีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 3 คน หรือมีเหตุอื่นที่อ้างตามคำแก้ฎีกา ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์