คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2549
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินจำนวน 4,984,450.39 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้ที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงิน หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และยังไม่ขาดอายุความทั้งไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 2,000,000 บาท หักเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระต้นเงิน จึงเหลือต้นเงินค้างชำระจำนวน 280,046.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2549 (วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 750,000 บาท หักเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระต้นเงิน จึงเหลือต้นเงินค้างชำระจำนวน 139,783.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2549 (วันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน จำนอง เป็นเงิน 719,238.55 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 43363 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนเจ้าหนี้อื่นภายในวงเงินจำนองไม่เกิน 719,238.55 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 51588 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนเจ้าหนี้อื่นภายในวงเงินจำนองไม่เกิน 719,238.55 บาท หากยังขาดอยู่เท่าใด ให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยอย่างเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายณรงค์ ลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ไปแล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ลูกหนี้ที่ 2 และนายณรงค์ทำสัญญากู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมจำนวน 2,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญากู้เงินจากเจ้าหนี้เดิมจำนวน 750,000 บาท ลูกหนี้ที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 43363 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง วงเงินจำนอง 2,000,000 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 51588 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง วงเงินจำนวน 750,000 บาท เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ดังกล่าว ภายหลังทำสัญญาลูกหนี้ที่ 2 ได้ชำระหนี้บางส่วนแก่เจ้าหนี้เดิม ต่อมาเจ้าหนี้รับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้จากเจ้าหนี้เดิม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินเพียงใด โดยเจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า จำนวนเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระหนี้นั้นไม่พอที่จะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องหักชำระดอกเบี้ยค้างทั้งหมดไปก่อนที่จะหักชำระต้นเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำเงินที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระแก่เจ้าหนี้เดิมไปหักชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ตรวจสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว ปรากฏว่าคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นคำขอรับชำระหนี้โดยใช้จำนวนเงินตามรายงานการคำนวณดอกเบี้ยฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ซึ่งนำเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้บางส่วนตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับมาหักชำระต้นเงิน นั้น ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น แต่ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้นั้น เห็นว่า แม้เจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 1,294,931.51 บาท และตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 750,000 บาท ตามที่ขอรับชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้เกินกว่า 5 ปี เพราะอายุความในการเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับชำระหนี้ย้อนหลังไปเท่านั้น แต่จากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (วันที่ 22 มีนาคม 2549) ถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ (วันที่ 9 สิงหาคม 2549) เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนนี้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2549 แม้อายุความในเรื่องดอกเบี้ยจะไม่มีประเด็นโต้เถียงกันในชั้นนี้ แต่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 1,294,931.51 และตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นเงินจำนวน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2548 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2549 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 43363 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนเจ้าหนี้อื่น ภายในวงเงินจำนองไม่เกิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน และที่ดินโฉนดเลขที่ 51588 พร้อมสิ่งปลูกสร้างก่อนเจ้าหนี้อื่น ภายในวงเงินจำนองไม่เกิน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน และให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไม่เกินหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ หากยังขาดอยู่จำนวนเท่าใด ให้ได้รับชำระหนี้โดยส่วนเฉลี่ยอย่างเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายณรงค์ ลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ไปแล้วเพียงใดก็ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ