โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองกับโจทก์เคยเป็นเพื่อนร่วมงานและมีความสนิทสนมกัน ประมาณต้นปี 2560 โจทก์ร่วมลงทุนทำกิจการร้านอาหารกับจำเลยที่ 2 จำนวน 500,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ในช่วงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 รวม 6 ครั้ง เป็นเงินรวม 455,000 บาท และชำระค่าสินค้าเข้าร้านด้วยบัตรเครดิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 อีกจำนวน 45,213 บาท ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินกับโจทก์จำนวน 500,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 5 กันยายน 2561 โดยในสัญญามีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแต่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาระบุในฐานะเป็นพยาน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีสัญญากู้เงินมาเป็นพยานแต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบรับว่า เงินจำนวน 500,000 บาท ที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไปนั้น เป็นเงินที่โจทก์ร่วมลงทุนทำร้านอาหารกับจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมไปตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าหลังจากร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ร่วมลงทุนจึงขอเงินที่ได้ลงทุนไปคืน จำเลยที่ 2 ยินยอม แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีเงินคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ทำเป็นสัญญากู้เงินนั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยังขัดต่อเหตุผลกล่าวคือ โจทก์เบิกความว่าร้านอาหารที่โจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 เริ่มเปิดขายวันที่ 16 มีนาคม 2560 จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าเดือดร้อนเรื่องซื้อสุราเข้าร้าน โจทก์จึงให้จำเลยที่ 2 นำบัตรเครดิตของโจทก์ชำระค่าสินค้าดังกล่าวจำนวน 45,213 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าขายหุ้นยังไม่หมด หมุนเงินไม่ทัน และหลังจากโจทก์จ่ายเงินร่วมลงทุนครบถ้วนแล้ว เมื่อถามถึงยอดเฉลี่ยการขาย จำเลยที่ 2 แจ้งว่าขายได้วันละ 1,000 ถึง 2,000 บาท และในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 จำเลยที่ 2 ขอยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท เพื่อจ่ายค่าเช่าร้าน พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่าการดำเนินกิจการร้านอาหารที่โจทก์ร่วมลงทุนอยู่ในสภาวะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนและขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ทั้งยังขาดทุนถึงขนาดจำเลยที่ 2 ต้องกู้เงินโจทก์เพื่อจ่ายค่าเช่าร้าน ซึ่งโดยปกติในทางการค้าหากกิจการอยู่ในภาวะขาดทุนหุ้นส่วนหรือผู้ร่วมลงทุนทุกคนจะต้องร่วมรับภาระการขาดทุนตามสัดส่วนที่ตนลงหุ้นย่อมไม่มีหุ้นส่วนคนใดยอมที่จะนำเงินส่วนตัวมาคืนทุนให้แก่ผู้ร่วมลงทุน ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าภายหลังร้านอาหารที่ร่วมลงทุนกันนั้นขาดทุนจนถึงขนาดต้องเลิกกิจการและเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับผู้ให้เช่าไปแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมที่จะคืนเงินที่โจทก์ร่วมลงทุนให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับจำเลยทั้งสองก็นำสืบหักล้างถึงที่มาในการทำสัญญากู้เงินว่า จำเลยทั้งสองและโจทก์มีความสนิทสนมกัน โจทก์แจ้งจำเลยทั้งสองว่าโจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ภริยาให้ทราบโจทก์จึงขอร้องให้จำเลยทั้งสองช่วยทำสัญญากู้เงินเพื่อจะนำไปแสดงให้ภริยาเชื่อว่าโจทก์ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินไปเพื่อโจทก์ไม่ต้องเลิกร้างกับภริยา จำเลยที่ 1 จึงยอมลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเพื่อช่วยเหลือตามที่โจทก์ขอร้อง โดยไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญากู้เงินเพราะไม่ได้มีการกู้เงินกันจริง และไม่เคยได้รับเงินตามสัญญากู้เงินจากโจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบมาจึงสอดคล้องกับเหตุผลและมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินขึ้นตามที่โจทก์ขอร้องให้ช่วยเหลือเพื่อโจทก์นำไปใช้แสดงแก่ภริยาให้เชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองกู้เงินตามสัญญากู้เงินดังกล่าวเท่านั้นโดยไม่มีการกู้เงินและรับเงินตามสัญญากันจริง สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเกิดจากการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณีตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธินำสัญญากู้เงินมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ