โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำฟ้องโจทก์ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่บัญญัติให้ฟ้องต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เท่ากับว่าฟ้องต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด หากบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้การบรรยายฟ้องในส่วนของข้อเท็จจริงในองค์ประกอบความผิดนั้น ไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องใช้ถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายทุกประการ แต่โจทก์ยังคงต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด ประกอบด้วยองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน และบางฐานความผิดยังต้องมีพฤติการณ์ประกอบการกระทำหรือเจตนาพิเศษ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาด้วย จึงจะเป็นความผิด โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยจำเลยนำหนังสือมอบอำนาจฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความและรายละเอียดใด ๆ มาให้โจทก์ลงชื่อ แล้วจำเลยไปกรอกข้อความและใช้จดทะเบียนให้ที่ดินโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนแก่จำเลยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งไม่ตรงตามเจตนาของโจทก์ที่ประสงค์ให้นำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ในการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ และการกระทำของจำเลยเป็นการปลอมเอกสารสิทธิหนังสือมอบอำนาจและใช้เอกสารสิทธิที่ปลอมขึ้นนั้นทำนิติกรรมสัญญาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 อันเป็นการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 265 ซึ่งโจทก์อยู่ในบังคับต้องบรรยายฟ้องระบุองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาพิเศษให้ปรากฏด้วยว่า จำเลยได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน อันเป็นเจตนาพิเศษซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดภายในของการกระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายในข้อ 3 ย่อหน้า 2 เกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจตามฟ้องว่า จำเลยคิดคดนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ในทางทุจริต และบรรยายในย่อหน้าเดียวกันและย่อหน้า 3 ต่อไปว่า โดยจำเลยนำหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความนำมาใช้ทำนิติกรรมสัญญายกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คำฟ้องของโจทก์จึงบรรยายเจตนาของจำเลยในการกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วว่ามีเจตนาไม่ซื่อเพื่อนำเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการซึ่งหมายถึงการงานที่ประกอบหรือธุระในการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ไปเป็นของจำเลย จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในดังกล่าวครบถ้วน และทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว หาใช่บรรยายให้เข้าใจได้แต่เพียงว่า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียสิทธิในที่ดินและไม่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยได้ลงมือกระทำตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงเจตนาพิเศษของจำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว คำฟ้องโจทก์จึงบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง อันเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่น จึงเห็นควรให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยใหม่ตามรูปคดี