โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 69, 73 ทวิ, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91, 138, 140 ริบของกลางและสั่งจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไม้หวงอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสองพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 73 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่แล้วคงจำคุก 3 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ยกคำขอที่ให้สั่งจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ววินิจฉัยว่า สำหรับความผิดร่วมกันมีไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปไว้ในความครอบครองยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาตยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์ที่ติดตามจับกุมจำเลยมีเพียงสามคน คือ นายไพโรจน์ นายสุเทพ และนายวินญู ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุและวิ่งไล่ติดตามจับจำเลย ย่อมที่จะต้องเห็นเหตุการณ์และเบิกความให้ข้อเท็จจริงไปในทำนองเดียวกัน แต่กลับได้ความจากนายวินญูเบิกความในทำนองว่า ไม่เห็นจำเลยถือมีดหรืออาวุธใดด้วย ทั้ง ๆ ที่ได้ความจากนายไพโรจน์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยใช้อาวุธมีดสปาร์ต้าใบมีดยาว 18 นิ้วกว้าง 2 นิ้ว ข่มขู่พยาน มีดดังกล่าวถือว่ามีขนาดใหญ่และใช้เป็นอาวุธในการข่มขู่ แต่พยานโจทก์กลับเบิกความแตกต่างกัน คงได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามตรงกันแต่เพียงว่า ชายคนที่ขับรถหลบหนีคือจำเลยและจำเลยไม่ได้พูดข่มขู่ นอกจากนี้จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามก็ไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ที่ถืออาวุธมีดพูดขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด ประกอบกับโจทก์มิได้อาวุธมีดที่อ้างว่าใช้ข่มขู่มาเป็นของกลาง นอกจากนี้ยังได้ความด้วยว่าในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้นายไพโรจน์กับนายสุเทพได้เบิกอาวุธปืนลูกซองของทางราชการไปด้วย หากจำเลยใช้อาวุธมีดข่มขู่จริง พยานโจทก์ทั้งสองก็สามารถที่จะใช้อาวุธปืนที่พาไปยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่ไม่ให้หลบหนีและเข้าจับกุมได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังคงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยใช้อาวุธมีดขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบได้ความว่า จำเลยกับพวกร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานด้วยการขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่วิ่งเข้าไปยืนขวางหน้ารถขณะที่จำเลยขับรถหลบหนีทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ต้องกระโดดหลบ นายไพโรจน์วิ่งไปเกาะกระบะรถคันดังกล่าวเพื่อจะปีนขึ้นไปบังคับให้จำเลยหยุดรถ จำเลยขับรถส่ายไปมาทำให้นายไพโรจน์ปีนขึ้นไปบนรถไม่ได้จึงมีลักษณะเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงไม่ใช่เรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้องและสามารถลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติให้ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด... ประกอบกับความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น การกระทำที่เป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง ดังนั้น โจทก์จึงอยู่ในบังคับที่จะต้องบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยกระทำการอย่างใด อันจะเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษ แต่เมื่อพิจารณาฟ้องของโจทก์เฉพาะส่วนที่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนการกระทำของจำเลยในข้อหานี้แต่เพียงว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยจำเลยกับพวกมีมีดยาวประมาณ 1 ฟุตเศษ ใบมีดกว้างประมาณ 2 นิ้ว เป็นอาวุธและตะโกนห้ามไม่ให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้ามาใกล้ ไม่เช่นนั้นจะทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษว่าจำเลยกับพวกต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายทั้งสองอันจะเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะได้ความตามทางพิจารณาว่าจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์ในการหลบหนีโดยขับรถยนต์กระบะพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง กรณีหาใช่เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานมานั้น จึงชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน