โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ 1,300,031.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 999,178.09 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเบี้ยประกันภัยครั้งละ 459 บาท ทุกสามปีจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,300,031.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 999,178.09 บาท นับถัดจากวันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย (ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 2 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนอง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "แม้อุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพราะเกินกว่าอัตราตามประกาศของโจทก์ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงิน 1,300,031.26 บาท ซึ่งมีดอกเบี้ยจำนวน 300,394.17 บาท ที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าตกเป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องเพราะทำให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่ต้องรับผิดตามกฎหมายและเกินคำขอ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 243 (1) และมาตรา 246 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ไปเสียทั้งหมด ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย และเนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าขณะทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเงินกู้รายย่อยระยะยาวในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.10 (แผ่นที่ 2) ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เพียงร้อยละ 12.25 ต่อปี ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตามสัญญาจากจำเลย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,300,031.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 999,178.09 บาท นับถัดจากวันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย (ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 2 ธันวาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จนั้นจึงไม่ถูกต้องเพราะเงินจำนวน 1,300,031.26 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ดังกล่าวมีดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่จำเลยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2541 ถึงวันฟ้องจำนวน 300,399.17 บาท รวมอยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินกู้ 999,178.09 บาท และค่าเบี้ยประกันภัย 459 บาท ที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยไป รวมเป็นเงิน 999,637.09 บาท ส่วนดอกเบี้ยแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิบังคับตามสัญญาเพราะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ตกลงให้ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในทุกวันที่ 16 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2540 ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2541 จำเลยชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 17 มกราคม 2542 มิใช่ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2541 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย"
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 999,637.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 999,178.09 บาท นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 24666 ตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ