โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 104,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,500 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 87,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน ทั้งนี้ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 ตรวจคำฟ้อง คำให้การ ตลอดจนเอกสารท้ายคำฟ้องและคำให้การแล้ว เห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ จึงเห็นควรให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกคำพิพากษากับคำสั่งงดสืบพยานของศาลแรงงานภาค 1 ให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 1 ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 1 จำเลยสละข้อต่อสู้ตามคำให้การที่ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน งานที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาว่า งานที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นงานที่มีลักษณะการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย เป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือเป็นงานที่เป็นไปตามฤดูกาลหรือไม่ ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 105,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ประเภทลูกจ้างชั่วคราว โดยโจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างชั่วคราวกันมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เมื่อครบกำหนดโจทก์และจำเลยต่อสัญญาจ้างกันอีก 4 ครั้ง ติดต่อกัน มีกำหนดระยะเวลาครั้งละ 1 ปี ครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,500 บาท จำเลยประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ ผลปรากฏว่าไม่ผ่านการประเมิน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 จำเลยแจ้งโจทก์ด้วยวาจาให้ทราบถึงผลการประเมินการปฏิบัติงานครั้งสุดท้ายพร้อมแจ้งด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โจทก์ไม่ต้องมาทำงานอีก แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2555 จากนั้นจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ระหว่างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์มีหน้าที่ติดตามหนี้ค้างชำระของสินเชื่อปล่อยใหม่ จำเลยมีคำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานต้องติดต่อลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ ทางจดหมายหรือติดตาม ณ ที่อยู่ที่ระบุไว้ในหลักประกัน จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าระบบไอคอลเล็กชั่น (I-Collection) โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์กล่าวอ้างว่าไม่สามารถบันทึกข้อมูลลงในระบบได้ครบถ้วนเพราะไม่มีเวลาทำรายการหรือรหัสของโจทก์หมดอายุเป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้าง การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลยในงานติดตามหนี้ที่ได้รับมอบหมาย ไม่บันทึกข้อมูลลงในระบบไอคอลเล็กชั่นให้ครบถ้วนตามหน้าที่ และไม่มีความขยันหมั่นเพียรในระหว่างปฏิบัติงาน แต่ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติงานและจำเลยได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ส่วนการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือและไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 59 วรรคหนึ่ง โดยนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 โจทก์ทำงานจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์เพียงบกพร่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลยในงานติดตามหนี้ที่ได้รับมอบหมายให้ถูกต้องครบถ้วน และไม่มีความขยันหมั่นเพียรในระหว่างปฏิบัติงาน การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลย ไม่ปรากฏว่าจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ ทั้งมิใช่กรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคาร การปล่อยสินเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจการจำเลย หากลูกค้าสินเชื่อของจำเลยค้างชำระหนี้แล้วจำเลยไม่สามารถควบคุมดูแลให้ลูกค้าชำระหนี้ตามเป้าหมายอาจทำให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลยที่ต้องสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น การที่จำเลยมีคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติงาน กำหนดให้พนักงานติดต่อลูกค้าที่ค้างชำระหนี้ ไม่ว่าทางโทรศัพท์ ทางจดหมายหรือติดตาม ณ ที่อยู่ที่ระบุไว้ในหลักประกัน จากนั้นต้องจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาและบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ระบบไอคอลเล็กชั่น (I-Collection) ก็เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้หนี้สินเชื่อค้างชำระเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจการของจำเลย เมื่อโจทก์มีหน้าที่ติดตามหนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ค้างชำระ จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 60 ที่กำหนดว่า "นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่... (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ... (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน.." คดีนี้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แบบแผนและวิธีปฏิบัติของจำเลยในงานติดตามหนี้ที่ได้รับมอบหมาย ไม่บันทึกข้อมูลลงในระบบไอคอลเล็กชั่นให้ครบถ้วนตามหน้าที่ และไม่มีความขยันหมั่นเพียรในระหว่างปฏิบัติงาน แต่ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติงานและจำเลยได้รับความเสียหาย อันแสดงว่าโจทก์ไม่ได้รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ และไม่ได้จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย โจทก์เพียงแต่ไม่ติดตามหนี้ค้างชำระและลงบันทึกข้อมูลในระบบไอคอลเล็กชั่นให้ครบถ้วนทุกรายตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องการไม่ใส่ใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนถูกต้องตามคำสั่งของจำเลย ก่อนเลิกจ้างจำเลยได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ไม่ผ่านการประเมิน และสรุปความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องจ้างต่อเนื่องจากผลการปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบถึงผลการประเมินดังกล่าวพร้อมกับแจ้งเลิกจ้างโจทก์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้จำเลยเคยประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในช่วงต่อสัญญาจ้างรวม 3 ครั้ง ผลปรากฏว่าโจทก์ผ่านการประเมิน และสรุปความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องจ้างต่อ ซึ่งจำเลยก็ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อทุกครั้ง แสดงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ และจำเลยไม่เคยตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นเรื่องบกพร่องต่อหน้าที่ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง จึงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 105,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ