โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 192484 และบ้านเลขที่ 2100/63 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านและที่ดินพิพาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทตามฟ้องหรือไม่ ส่วนฎีกาประเด็นอื่นไม่อนุญาต
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย นายปริยวิศว์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ซึ่งมีคำสั่งตั้ง นายปริยวิศว์ เป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 นางยีด ฟ้องนางนุชจรินทร์ ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ขอให้ห้ามนางนุชจรินทร์รบกวนการครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 192484 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และให้นางนุชจรินทร์กับโจทก์ไปจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่จำเลย ในวันที่ยื่นฟ้องจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นางนุชจรินทร์เปิดกุญแจบ้านเลขที่ 2100/63 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทในคดีนี้ ให้จำเลยกลับเข้าอยู่อาศัยจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น วันรุ่งขึ้นจำเลยและบริวารนำช่างกุญแจมางัดประตูบ้าน เข้าไปยึดถือครอบครองบ้านพิพาท โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยและบริวาร วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2549 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยและบริวารรวม 6 คน ต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท โดยซื้อมาจากนางนุชจรินทร์ แต่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการใช้อุปกรณ์งัดประตูรั้วบ้านและประตูบ้าน แล้วบุกรุกเข้าไปครอบครองบ้านของโจทก์โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2548 อันเป็นวันทำละเมิด จนกว่าจำเลยกับบริวารจะได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านพิพาท แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อรอฟังผลในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ว่าระหว่างโจทก์กับจำเลย ผู้ใดจะเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท อีกทั้งมีการท้ากันให้มีผลแพ้ชนะถึงคดีนี้ด้วย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท จำเลยกับพวกรวม 6 คนจึงต้องแพ้คดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ด้วยตามที่ท้ากันเอาไว้ แต่จำเลยกับบริวารก็ยังอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ต้องห้ามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 เพราะข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีทั้งสองเรื่องเป็นอย่างเดียวกันคือ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่า นางยีดกับพวก ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการใช้อุปกรณ์งัดประตูรั้วบ้านและประตูบ้านของโจทก์ แล้วบุกรุกเข้าไปครอบครองบ้านของโจทก์โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาจากจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาเป็นละเมิดต่อโจทก์ และขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 นั้น โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท เนื่องจากยังเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาอยู่อีกคดีหนึ่งว่าโจทก์หรือจำเลย เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท คดีนั้นคือคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ส่วนการที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมา ในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 แล้วจำเลยเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ มาจากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมา โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำในความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ส่วนที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 นั้น เห็นว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ยังมีคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 กำลังพิจารณาอยู่ว่าโจทก์หรือจำเลย เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ชั่วคราวก่อน เพื่อรอฟังผลการชี้ขาดในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ก่อน ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท จึงไม่อยู่ในสถานะที่สามารถฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารได้ และการที่จะให้โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดแล้วให้โจทก์มีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยเข้ามาด้วย ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นคนละเรื่องกัน ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้นก็เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ว่า ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ มิใช่บทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ต้องมีคำขอให้บังคับเข้ามาในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ สภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา แตกต่างจากคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 2100/63 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 192484 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท