โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 80, 91, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยแก้ไขคำให้การเป็นต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, มาตรา 295 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่า จำคุก 10 ปี และฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 1 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงลงโทษฐานพยายามฆ่า จำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 6 ปี 16 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า? การที่จำเลยใช้มีดดาบปลายแหลม ฟันผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ แม้จำเลยใช้มีดดาบเป็นอาวุธฟันผู้เสียหายที่ 1 เพียง 1 ครั้ง ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงอาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายซึ่งมีลักษณะเป็นมีดดาบปลายแหลมยาวทั้งด้าม 2 ฟุต ใบมีดกว้าง 1 นิ้ว แล้ว เห็นได้ว่า เป็นมีดดาบที่มีขนาดใหญ่ใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลตามรายงานของแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลอยู่กลางหน้าผาก ลึกถึงกะโหลกศีรษะจนกะโหลกศีรษะร้าว ต้องใช้เวลารักษาบาดแผลประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็อันตรายถึงแก่เสียชีวิตได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 โดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้อาวุธมีดขนาดใหญ่ฟันลงไปกลางหน้าผากโดยแรงเช่นนี้ ผู้เสียหายที่ 1 อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 ไปแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 จะเข้าไปห้าม จึงถูกจำเลยทำร้ายอีก แสดงว่าในการฟันของจำเลยแต่ละครั้งความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการฟันของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าฟันครั้งใดจำเลยมุ่งประสงค์จะฟันผู้เสียหายคนใด มิใช่ฟันในขณะที่ชุลมุนกัน เจตนาที่จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายทั้งสองจึงแยกออกจากกันได้ หาใช่ว่าเมื่อเป็นการกระทำต่อเนื่องแล้วจะต้องเป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมกันจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.