คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 เนื้อที่ 6 ไร่ 85 ตารางวา ระหว่างโจทก์ผู้ให้กับจำเลยผู้รับให้ และให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป หากจำเลยขัดขืนไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินคืนเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว
ต่อมาวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอม โดยโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่า
"ข้อ 1. จำเลยยอมแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 42 15 ตารางวา และชำระเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,500 บาท โดยเริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม โดยจำเลยจะดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ โดยจำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมในการรังวัดแบ่งแยก หากจำเลยไม่ไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ก็ขอให้โจทก์มีสิทธิไปรังวัดแบ่งแยกได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนบ้านให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยยินยอมให้โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวได้จนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม ซึ่งเงินค่าเลี้ยงดูโจทก์ จำเลยจะนำไปชำระให้โจทก์ที่ภูมิลำเนาของโจทก์หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 204-1-55xxx-x
ข้อ 2. จำเลยยินยอมถอนฟ้องคดีที่เป็นโจทก์ฟ้องนางมณีรัตน์ ข้อหาเบิกความเท็จ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1587/2559 ของศาลชั้นต้น
ข้อ 3. หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ก็ให้โจทก์บังคับคดีได้ตามคำฟ้อง
ข้อ 4. ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ โจทก์และจำเลยตกลงให้เป็นพับ
ข้อ 5. โจทก์และจำเลยตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้และไม่เรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก"
จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าคำพิพากษาตามยอมละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้กลับคำพิพากษาตามยอมและยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 9,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องแล้วจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ขอให้บังคับคดีโดยอ้างว่า เมื่อครบกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งและไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้าน ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์
วันที่ 15 มีนาคม 2562 จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2562 โดยไม่ชอบเพราะไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งถึงวิธีการที่ให้ศาลบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 (2) โจทก์กับจำเลยได้สิทธิใหม่ตามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกหมายบังคับคดีเป็นการไม่สุจริต ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำร้องขอออกหมายบังคับคดีฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2562
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ ปรากฏตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ครพ.1970/2563
วันที่ 10 และ 12 พฤศจิกายน 2564 โจทก์ยื่นคำร้องทำนองเดียวกันว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 17101 แล้ว ต่อมาโจทก์ร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 แก่โจทก์ทั้งแปลงตามคำพิพากษาตามยอม แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถที่จะดำเนินการให้ได้ เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลมาแสดงว่าศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 และให้โอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งแปลง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 ระหว่างโจทก์และจำเลย และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินโฉนดที่ดิน 17101 คืนแก่โจทก์ทั้งแปลง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า
ข้อ 1. จำเลยยอมแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 42 15 ตารางวา และชำระเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 2,500 บาท โดยเริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม โดยจำเลยจะดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้โดยจำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมในการรังวัดแบ่งแยก หากจำเลยไม่ไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ก็ขอให้โจทก์มีสิทธิไปรังวัดแบ่งแยกได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนบ้านให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยยินยอมให้โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวได้จนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม ซึ่งเงินค่าเลี้ยงดูโจทก์จำเลยจะนำไปชำระให้โจทก์ที่ภูมิลำเนาของโจทก์หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ธนาคาร ก. บัญชีเลขที่ 204-1-55xxx-x...
ข้อ 3. หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ก็ให้โจทก์บังคับคดีได้ตามคำฟ้อง
วันที่ 23 มกราคม 2562 โจทก์ขอออกหมายบังคับคดี เนื่องจากครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยไม่ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ครพ.1970/2563 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความรวม 2 ประการ คือ ไม่ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน และไม่ยินยอมให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยในบ้าน โจทก์จึงมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามคำฟ้องได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. โดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโดยถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเสียก่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย และกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อปรากฏว่า การบังคับคดีดังกล่าวจะสำเร็จบริบูรณ์ต่อเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในโฉนดที่ดิน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลย และให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 357 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 17101 เนื้อที่ 6 ไร่ 85 ตารางวา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545 ระหว่างโจทก์กับจำเลย และให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวกลับคืนเป็นของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ