โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 12, 13, 14, 18, 62, 81 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 160 ตรี, 160 ตรี/2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 10 เดือน และปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง, 160 ตรี/2 (ที่ถูก 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง) จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง และ 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท โดยไม่ได้ระบุให้เพิ่มโทษอีกหนึ่งในสามก่อนลดโทษนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ได้รับโทษหนักขึ้นที่เรียกว่าบทฉกรรจ์เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วางโทษแก่จำเลยใหม่ตามที่โจทก์อุทธรณ์โดยพิจารณาถึงบทบัญญัติของมาตรา 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้ระบุให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามก่อนลดโทษมานั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน