โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2534 โจทก์นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 - 1364 เลย ของโจทก์ไปว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ซ่อมแซมช่วงล่างและระบบเบรก โดยได้มอบรถยนต์และลูกกุญแจสำหรับติดเครื่องยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 มิได้ซ่อมแซม ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2534 โจทก์ประสงค์ที่จะรับรถยนต์คืน แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมส่งมอบคืนให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขัดขวางไม่ให้โจทก์เอารถคืนโดยขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย และจำเลยที่ 2 ได้ถอดเอาแบตเตอรี่และล้อรถของโจทก์ไปจำนวน 3 ล้อ กับเอาลูกกุญแจสำหรับติดเครื่องยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำแบตเตอรี่ ล้อยาง 3 ล้อ ซึ่งมีสภาพใช้การได้ดีไปประกอบติดรถยนต์คันดังกล่าว พร้อมทั้งส่งมอบกุญแจสำหรับติดเครื่องยนต์และรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังเดิมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าขาดประโยชน์และค่าเสื่อมสภาพให้แก่โจทก์เป็นเงิน 6,000 บาท และค่าขาดประโยชน์อีกวันละ 300 บาท ค่าเสื่อมสภาพวันละ 100 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532โจทก์ได้ทำสัญญาขายรถยนต์พิพาทซึ่งมีสภาพทรุดโทรมให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมอบรถยนต์พิพาทพร้อมหนังสือแสดงการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนเนื่องจากโจทก์อ้างว่าบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ยังมีชื่อเป็นเจ้าของอยู่เมื่อมีการโอนทะเบียนมาเป็นชื่อโจทก์แล้วโจทก์จะโอนให้จำเลยที่ 2 ภายหลัง เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์พิพาทแล้วได้นำไปซ่อมแซมจนใช้การได้ดี ต่อมาโจทก์มาขอยืมเงินจากจำเลยที่ 2 และขอเช่ารถยนต์พิพาทไปใช้สอย ตกลงให้ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท แต่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแก่จำเลยที่ 2 มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 จำเลยที่ 2 ทวงถามแล้วโจทก์ก็บอกว่าหาเงินไม่ได้วันที่ 25 มีนาคม 2534จำเลยที่ 2 จึงร่วมกับจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นอีก 2 คนไปติดตามเอารถยนต์พิพาทคืน แต่โจทก์ขอนำไปส่งคืนเอง จำเลยที่ 2จึงให้นำไปส่งคืนไว้ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซม จำเลยที่ 1 เป็นช่างซ่อมรถรับรถยนต์พิพาทไว้เพื่อทำการซ่อมแซมตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 นำแบตเตอรี่ ล้อยาง 3 ล้อ ซึ่งมีสภาพใช้การได้ดีประกอบติดกับรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน 80 - 1364 เลย ของโจทก์ และส่งมอบลูกกุญแจสำหรับติดเครื่องยนต์พร้อมรถคันดังกล่าวคืนให้โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายวันละ 200 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2534 เป็นเวลา 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อเดียวว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมจากจำเลยที่ 2 ไป เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำรถยนต์พิพาทไปว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซ่อมแต่จำเลยที่ 1 มิได้ซ่อมแซมเมื่อโจทก์ขอรับรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์เอารถยนต์พิพาทคืน โดยจำเลยที่ 2 ได้ถอดเอาแบตเตอรี่และล้อรถของโจทก์ไปจำนวน3 ล้อ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า รถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยซื้อมาจากโจทก์ ตามคำให้การจำเลยที่ 2ดังกล่าว จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทจึงมีสิทธิป้องปัดขัดขวางไม่ให้โจทก์เอารถยนต์พิพาทไปจากอู่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาทแต่อย่างใด ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่า โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ตามคำให้การจำเลยที่ 2 และตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดในการชี้สองสถาน ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาท ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมจำเลยที่ 2 ไป จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การและไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
พิพากษายืน