โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 และให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพาสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีวางประกัน) ที่ กค 9200030/19 - 04 - 2560 ลงวันที่ 19 เมษายน 2560 กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,439,483.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของเงิน 1,151,586.92 บาท นับแต่เดือนมิถุนายน 2562 จนถึงวันที่มีการอนุมัติให้จ่ายคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ศาลภาษีอากรกลางอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนด ค่าทนายความ 35,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 7 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 โจทก์นำเข้าสินค้า 23 รายการ สำแดงสินค้ารายการที่ 1 ถึง 11 ว่าเป็นพัดลมพร้อมมอเตอร์ใช้ในงานอุตสาหกรรม มีประเทศกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาในราชอาณาจักรโดยทางเรือที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โจทก์สำแดงประเภทพิกัด 8414.80.90 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 0 ยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ลงวันที่ 6 มกราคม 2555 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบสินค้าและมีความเห็นว่า สินค้ารายการที่ 1 ถึง 11 ไม่ตรงตามสำแดง ต้องชำระอากรประเภทพิกัด 8414.59.50 อัตราอากรร้อยละ 10 ในฐานะพัดลมอื่น ๆ (เครื่องเป่าลม BLOWER) ที่มีกำลังไม่เกิน 125 กิโลวัตต์ ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน ตามสำแดงได้ โจทก์ยื่นหนังสือลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ขอวางประกันนำของออกไปก่อนโดยโต้แย้งพิกัดไว้ และวางเงินประกันวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินจัดให้สินค้าดังกล่าวเป็นประเภทพิกัด 8414.59.30 อัตราอากรร้อยละ 10 ในฐานะเครื่องเป่าลมอื่น ๆ ที่มีกำลังไม่เกิน 125 กิโลวัตต์ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ และให้โจทก์เสียภาษีประเภทพิกัด 8414.59.30 รหัสย่อย 29 ในฐานะเครื่องเป่าลมอื่น ๆ อัตราอากรร้อยละ 10
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่น ๆ (กรณีวางประกัน) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 บัญญัติว่า "บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร..." มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ" วรรคสอง บัญญัติว่า "... การคำนวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น..." และพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติว่า "การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร..." ดังนั้น การจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดจึงต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) ดังกล่าว และบัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า อันเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องตรวจสอบและตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใด และสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทที่สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ว่าไม่ถูกต้อง และจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า สินค้าพิพาทต้องชำระอากรประเภทพิกัด 8414.59.30 อัตราอากรร้อยละ 10 ในฐานะเครื่องเป่าลมอื่น ๆ ที่มีกำลังไม่เกิน 125 กิโลวัตต์ ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน ตามสำแดงได้ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีความผูกพันตามบทกฎหมายที่จะต้องถือพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือจะต้องถือเอาพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามประเทศอื่นแต่อย่างใด และตามกฎข้อ 5 การยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ของระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน เอกสารแนบ ก ท้ายประกาศกรมศุลกากรที่ 3/2555 ได้กำหนดวิธีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) เพื่อให้มีการตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้าซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) คือหนังสือที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการออกได้รับรองว่าสินค้านั้นมีสถานที่ผลิตและส่งออกจากประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area (ACFTA)) โดยผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรที่ระบุในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) มิได้มีกฎข้อใดให้ต้องรับฟังยุติตามนั้น จึงเป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับการโต้แย้งเกี่ยวกับการจำแนกประเภทพิกัดของสินค้าตามกฎข้อ 25 ของระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ต้องเป็นการโต้แย้งระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศภาคีผู้นำเข้าและส่งออก มิใช่การโต้แย้งระหว่างเอกชนผู้นำเข้าและหน่วยราชการของประเทศภาคีผู้นำเข้าดังเช่นกรณีของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวว่ากรณีของโจทก์ไม่เข้าลักษณะที่เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการจำแนกประเภทพิกัดของสินค้าที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในกลุ่มประเทศภาคีผู้นำเข้าและส่งออกจะต้องปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อหาทางแก้ไขข้อโต้แย้งตามกฎข้อ 25 จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ไว้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจพิจารณาและกำหนดประเภทพิกัดสินค้าของโจทก์ได้ เมื่อฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษว่า สินค้าพิพาทไม่ได้จัดเป็นของตามประเภทพิกัด 8414.59.30 อย่างไร จึงรับฟังเป็นที่ยุติว่าสินค้าของโจทก์จัดเป็นของตามประเภทพิกัด 8418.59.30 ประเภทย่อย 29 อัตราอากรร้อยละ 10 ในฐานะเครื่องเป่าลมอื่น ๆ ที่มีกำลังไม่เกิน 125 กิโลวัตต์ การประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีวางประกัน) ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2560 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ